ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าลดสถิติฆ่าตัวตายในประเทศให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 5 ปี หลังชาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายมากสุดในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD-ผลวิจัยชี้ คำสั่งห้ามขายสารเคมีอันตราย 'พาราควอต' ช่วยลดสถิติฆ่าตัวตายได้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศมาตรการป้องกันและลดสถิติการฆ่าตัวตายในกลุ่มประชากรทุกเพศทุกวัย หลังจากผลสำรวจสถิติฆ่าตัวตายที่รวบรวมและเผยแพร่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559 บ่งชี้ว่า ชาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายในสัดส่วนสูงถึงประมาณ 25.6 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน 

เว็บไซต์โคเรียเฮรัลด์รายงานว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี ที่มีสถิติฆ่าตัวตายสูงที่สุด และสถิติประชากรวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้ก็ถือว่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศโออีซีดีเช่นกัน

ผลสำรวจของหน่วยงานรัฐบาลบ่งชี้อีกว่า ร้อยละ 90 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้มักจะมีพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอยากฆ่าตัวตายก่อนที่จะลงมือจริง หากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือคนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวก็จะสามารถสังเกตเห็นและป้องกันการฆ่าตัวตายได้

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงตั้งเป้าว่าจะศึกษาวิเคราะห์ปัจจัย���กี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตายของประชากรกว่า 70,000 คนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และออกมาตรการฝึกอบรมอาสาสมัครประมาณ 1 ล้านคนทั่วประเทศ ให้มีความรู้ที่จะสังเกตและรับมือ หรือโน้มน้าวไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย โดยตั้งเป้าว่าจะลดสัดส่วนผู้ฆ่าตัวตายให้เหลือประมาณ 17-20 คนต่อประชากร 100,000 คนให้ได้ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้

ต้นตอฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดจากปัญหาทางจิตอย่างเดียว

เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์ของสหรัฐอเมริการายงานว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเพิ่มขึ้น แต่คนเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดอย่างถูกวิธีหรือทันเวลา นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ซึมเศร้า อาการทางจิต เหยื่อ

อย่างไรก็ตาม อาการทางจิตเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย และปัจจัยอื่นๆ ที่แวดล้อมก็มีผลไม่แพ้กัน เช่น แรงกดดันจากความคาดหวังทางครอบครัว การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ และในกรณีของสหรัฐฯ สถิติการฆ่าตัวตายจาก 'อาวุธปืน' ถือว่าสูงเป็นอันดับหนึ่ง 

ขณะที่เว็บไซต์บิสซิเนสอินไซเดอร์ สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ รายงานเช่นกันว่า สังคมเกาหลีใต้มีมายาคติว่าผู้ที่มีอาการทางจิตเป็นผู้ที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่ไม่กล้ายอมรับหรือหาทางรักษาอาการ และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ฆ่าตัวตายก็จะไม่ค่อยได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้ที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษนิยม เพราะมองว่าผู้ที่ฆ่าตัวตาย'ไม่เข้มแข็งพอ'

อย่างไรก็ตาม บิสซิเนสอินไซเดอร์ระบุว่า ร้อยละ 30 ของประชากรเกาหลีใต้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะยากจน ซึ่งวิธีฆ่าตัวตายที่นิยมใช้ในกลุ่มคนเหล่านี้ คือ การกินยาฆ่าวัชพืช เช่น พาราควอต

ห้ามจำหน่าย 'สารเคมีอันตราย' ลดสถิติฆ่าตัวตายได้

รายงานสถิติฆ่าตัวตายของชาวเกาหลีใต้ช่วงปี 2549-2553 บ่งชี้ว่า ผู้ฆ่าตัวตายจากการกินสารเคมีอันตรายมีมากเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับการฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุอื่นๆ โดยที่ 'พาราควอต' เป็นสารเคมีที่ผู้ฆ่าตัวตายใช้กันมากที่สุด เพราะหาง่าย ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในอินชอนและปูซานของเกาหลีใต้ผลักดันมาตรการควบคุมและป้องกันการฆ่าตัวตายโดยสั่งห้ามจำหน่ายพาราควอตในพื้นที่

สารเคมี-การเกษตร-พาราควอต-วัตถุอันตราย-ปุ๋ย-สารพิษ-พืชไร่-ข้ามโพด-เพาะปลูก-เกษตรกร

ผลปรากฎว่าสถิติฆ่าตัวตายในพื้นที่ลดลงในปี 2553 ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้พิจารณาคำสั่งห้ามจำหน่ายพาราควอตทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา หลังจากนั้นก็มีงานวิจัยของคณะผู้เชี่ยวชาญในเกาหลีใต้ที่เผยแพร่ในปี 2558 พบว่าคำสั่งห้ามจำหน่ายพาราควอตส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย และเสนอให้การห้ามจำหน่ายพาราควอตเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายของรัฐบาล และพบว่าสถิติฆ่าตัวตายจากการกินยาฆ่าวัชพืชในเกาหลีใต้ลดลงจริงถึงร้อยละ 46 ช่วงปี 2555-2559 

ในส่วนของประเทศไทย การฆ่าตัวตายด้วยการกินสารเคมีมีพิษ เช่น ยาฆ่าแมลงหรือยาฆาหญ้า สูงเป็นอันดับ 2 รองจากการแขวนคอ แต่ไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมหรือจำกัดการจำหน่ายสารเคมีอันตรายประเภทนี้

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีมติ 'ไม่ยกเลิก' การใช้วัตถุอันตราย ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไฟริฟอส ในอุตสาหกรรมการเกษตร โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลบ่งชี้เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังมีไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นที่พาราควอตเป็นหนึ่งในสารเคมีที่มีผู้ใช้ฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับต้นๆ

Photo by Steve Roe on Unsplash

หมายเหตุ : ภาพสำหรับประกอบรายงานข่าวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: