ไม่พบผลการค้นหา
ลำดับเหตุการณ์ความพยายามฆ่าตัวตายของ "นายคณากร เพียรชนะ" อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลาทั้ง 2 ครั้ง ที่ทำให้สังคมตั้งข้อสังเกตว่ามีอะไรในกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 4 ต.ค. 2562 เวลา 12.50 น. นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ในขณะนั้นใช้อาวุธปืนยิงตัวเองภายหลังลงจากบัลลังก์พิพากษาในคดีความมั่นคง ในขณะนั้นมีการเผยแพร่เอกสารคำพิพากษา เรื่อง ความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ลหุโทษ ได้ระบุคำพิพากษาของนายคณากร ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน โดยระบุว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งห้า เนื่องจาก พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยทั้งห้าได้

คำพิพากษา ตอนหนึ่งระบุว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญจึงต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษา "ตรวจร่างคำพิพากษา" ก่อนอ่านให้คู่ความฟัง

โดยนายคณากร ระบุว่า คดีนี้เป็นคดีฆาตรกรรม เป็นคดีอุกฉกรรณ์ไม่ต่างกับคดีฆาตรกรรมที่เกิดขึ้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคอื่นๆ คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีก่อการร้าย โจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้าย หรือความผิดต่อความมั่นคง แต่พยานหลักฐานทั้งหมดกลับเกิดจากหรือเกิดมีขึ้นในขณะที่จำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานในฐานะผู้ต้องสงสัย ตามกฎหมายพิเศษคือกฎอัยการศึกที่ให้ควบคุมผู้ต้องสงสัยได้ 7 วัน และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ที่ให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน 7 วัน ขยายเวลาควบคุมตัวได้คราวละ 7 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วัน ที่ใช้สำหรับคดีความมั่นคง หรือก่อการร้าย

ในเหตุการณ์ครั้งนั้น นายคณากร เรียกร้อง 2 ข้อคือ "1.เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา

2.เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งทราบมีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรมเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีได้"

โดยตอนท้าย นายคณากรทิ้งท้ายไว้ในคำแถลงการณ์นี้ว่า "ผมขอฝากถ้อยคำถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยและผู้รักความยุติธรรมทุกท่าน ไว้สองประโยค คือ "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"


ตัวแทนศาลยุติธรรมเยี่ยม "คณากร" ยืนยันการทำงานผู้พิพากษาเป็นกลาง

วันที่ 6 ต.ค. 2562 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เดินทางไปเยี่ยมอาการบาดเจ็บของนายคณากร พร้อมกับยืนยันว่า การทำงานของศาลยุติธรรมมีหลักการสำคัญคือ ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และให้ความมั่นใจประชาชนว่า เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของซาลไม่เฉพาะที่จังหวัดยะลา แต่ศาลทั่วประเทศอยู่ภายใต้การดูแลของประธานศาลฎีกา ที่ให้คำแนะนำผู้พิพากษาศาลได้ เป็นไปตาม "รัฐธรรมนูญ" ประกันความเป็นอิสระและความเป็นกลางของศาลได้ ซึ่งสำนักงานศาลจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาสาเหตุของปัญหา และจะหาแนวทางที่แก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ นายสราวุธ ยังบอกอีกว่า การแทรกแซงจะระมัดระวังอยู่แล้ว ในวัฒนธรรมการทำงานของศษล การดำเนินการต่างๆ อยู่ในกฎหมาย นอกจากมีรัฐธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว ในตัวบทกฎหมายประมวลกฎหมายพิจารณา ป. วิอาญา ก็ระบุไว้ชัดเจน ในมาตรา 183 กำหนดว่า ถ้าผู้พิพากษา มีความเห็นที่แตกต่างกัน สามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งการทำความเห็นแย้งกันหรือ คำพิพากษา ต้องทำเป็นหนังสือ

อีกทั้งในมาตรา 184 ในคดีอาญา ทางผู้พิพากษาสามารถที่จะปรึกษาหารือกัน ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันในคดีอาญา ผลที่เห็นเป็นผลร้ายต่อจำเลยมากกว่า ต้องยอมตามที่ผู้พิพากษามีความเห็นเป็นผลร้ายให้กับจำเลยมากกว่า หมายความว่า หากคนหนึ่งเห็นว่ายกฟ้อง คนหนึ่งเห็นว่าลงโทษ คนที่เห็นว่าควรลงโทษต้องยอมตามคนที่เห็นว่ายกฟ้อง เพราะฉะนั้นเป็นหลักปฏิบัติในตัวกฎหมาย มาตรา 183 184 ประมวลกฎหมายวิธีความพิจารณาคดีอาญา

โดยหลังจากนั้น ได้มีการตั้งอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมวิสามัญเพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณี นายคณากร เพียรชนะ ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 พร้อมรายงานผลภายใน 15 วัน


ย้าย "คณากร" ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่เชียงใหม่

หลังจากนั้นไม่นาน นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม รับทราบผลตรวจสอบข้อเท็จจริงนายคณากร แล้ว และมีมติตั้งกรรมกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนายคณากร อีกตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 68 คือเป็นกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย

โดยมีมติให้นายคณากร ไปช่วยงานชั่วคราวที่กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เชียงใหม่ ก่อนจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น


ตร. เอาผิดอาญา "คณากร" ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

วันที่ 19 ม.ค. 2563 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้ขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ซึ่งขณะนี้ครบกำหนดระยะเวลาฝากขังแล้ว แต่พนักงานอัยการยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดยะลา ซึ่งการดำเนินคดีอาญากับการสอบสวนทางวินัยจะทำควบคู่กันไป โดยที่นายคณากร ปฏิบัติหน้าที่อยู่กองผู้ช่วยในศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชียงใหม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณคดี


ตัดสินใจยิงตัวเองอีกครั้ง พร้อมจดหมายลา

วันที่ 7 มี.ค. 2563 นายคณากร เพียรชนะ ตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงตัวเองอีกครั้ง ที่บ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่ อาการสาหัส ก่อนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยครั้งนี้นายคณากรได้เขียนจนหมายลาอีกครั้ง ระบุถึงกรณีเหตุยิงตัวเองครั้งแรก จากนั้นอ้างว่าถูกกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่และตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาทำให้อาจต้องถูกลงโทษทางราชการรุนแรงและถูกดำเนินคดี ทำให้สภาพร่างกายและจิตใจรับไม่ไหวจึงก่อเหตุอีกครั้ง พร้อมกันนี้ได้ขอบริจาคทุนการศึกษาแก่ลูกด้วย


โลกออนไลน์ติด #ผู้พิพากษายิงตัวเอง

ชาวทวิตเตอร์ร่วมกันติดแฮชแท็ก #ผู้พิพากษายิงตัวเอง แสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของนายคณากร และให้กำลังใจครอบครัวของนายคณากร พร้อมเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมไทยในความโปร่งใส ไม่ถูกแทรกแซง

1.jpg2.jpg3.jpg4.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง