ไม่พบผลการค้นหา
กิจกรรมไว้อาลัย 'ผู้พิพากษาคณากร' ที่ มธ. มีผู้เข้าร่วมคับคั่ง ทั้ง นศ.-ประชาชน และนักกิจกรรมจากปัตตานี ที่ระบุว่า ผู้พิพากษาต้องเจออะไรภายใต้ ก.ม.ความมั่นคง การปิดกั้นทางการเมือง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมย้ำ "นี่แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง"

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจัดกิจกรรมไว้อาลัย 'นายคณากร เพียรชนะ' อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา เวลา 18.00 น. วันที่ 8 มี.ค.2563 ที่ลานประติมากรรม 6 ตุลาฯ ข้างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแน่นขนัดบริเวณจัดงาน และคนส่วนใหญ่พร้อมใจสวมเสื้อดำ เพื่อไว้อาลัยนายคณากรที่ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา

กิจกรรมไว้อาลัยเริ่มจากการปราศรัยโดยนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่มองว่าการเสียชีวิตของนายคณากรเป็นผลจากกระบวนการยุติธรรมไทย โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ระบุว่า "ความยุติธรรมของประเทศนี้ แทบไม่หลงเหลืออะไรให้เราพูดอีกแล้ว" และการที่หนึ่งคนยอมปลิดชีพตัวเอง เพื่อจุดประกายให้คนอื่นๆ เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นส่ิงที่มีคุณค่าและเป็นเกียรติที่สุด

ไว้อาลัยผู้พิพากษา

ขณะที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ระบุว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในคราบแห่งความอยุติธรรมที่อยู่ในสังคมนี้ สะท้อนโครงสร้างของอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม ซึ่งได้พรากพี่น้องคนไทยไปหลายคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น 'สืบ นาคะเสถียร' หรือ 'ลุงนวมทอง ไพรวัลย์' และผู้พิพากษาคณากรคือกรณีล่าสุดที่ทำให้เราได้เห็นอำนาจและผู้ใช้อำนาจที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม

นอกจากนี้ 'อารีฟีน โสะ' นักกิจกรรมจากจังหวัดปัตตานี หนึ่งในผู้ร่วมปราศรัย ได้กล่าวถึงจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็น 'พื้นที่ทดลองความมั่นคง' เพราะเป็นพื้นที่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งถูกบังคับใช้ตั้งแต่ 5 ม.ค.2547 เป็นต้นมา ทำให้อำนาจของทหารอยู่เหนือ 'อำนาจการเมือง' ที่เป็นกลไกอำนาจปกติ และ 'จ.ยะลา' ซึ่งผู้พิพากษาคณากรมีภารกิจปฏิบัติหน้าที่ก่อนเสียชีวิต ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความมั่นคงมาตลอด 16 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน

ไว้อาลัยผู้พิพากษา
  • อารีฟีน โสะ นักกิจกรรมจากปัตตานีที่ร่วมปราศรัยในกิจกรรมรำลึกผู้พิพากษาคณากร

อารีฟีนระบุว่า "คุณคณากร เพียรชนะ ไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่เขาถูกฆ่า เขาถูกฆ่าจากระบบอันเน่าเหม็นที่กัดกร่อนสังคมไทยอยู่" และปรากฏการณ์นี้เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น พร้อมระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงที่เปิดช่องให้มีการปิดกั้นทางการเมือง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้ปฏิบัตหน้าที่ การ 'จับแพะ' การตรวจดีเอ็นเอ การเหวี่ยงแหคุกคาม หรือปฏิบัติการไอโอที่เพิ่งเป็นที่รู้จักหลังการอภิปรายในสภา แต่ที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่ "เจอมานานแล้ว"

อารีฟีนกล่าวทิ้งท้ายว่าพื้นที่ทดลองความมั่นคงในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่จังหวัดชายแดนใต้ แต่ขยายไปยังจังหวัดที่เหลือทั่วประเทศ และคนในสังคมจำเป็นจะต้อง 'สู้ไปด้วยกัน' เพื่อให้ความยุติธรรมกลับคืนมา

ไว้อาลัยผู้พิพากษา
  • นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักษาชาติ ชูภาพผู้พิพากษาคณากรขณะร่วมกิจกรรม

ภายในงานมีการรับบริจาคเงินเพื่อสมทบเป็นทุนการศึกษาให้บุตรของนายคณากร ซึ่งกลุ่มผู้จัดกิจกรรมรับดำเนินการนอกเหนือจากการรับบริจาคทางบัญชีธนาคารที่ผู้พิพากษาคณากรได้โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กก่อนเสียชีวิต ขณะที่ีกิจกรรมดำเนินไปจนถึงเวลา 19.00 น. และปิดท้ายกิจกรรมด้วยการเปิดแฟลชโทรศัพท์มือถือ และร่วมร้องเพลง 'เพื่อมวลชน' จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมจึงแยกย้ายกันไป

ไว้อาลัยผู้พิพากษาไว้อาลัยผู้พิพากษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: