ไม่พบผลการค้นหา
ลี เซียนลุงออกมาเรียกร้องให้มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และย้ำว่าประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้เมื่อต้องเลือกฝ่าย

ถึงเวลาอาเซียนต้องเลือกข้าง

บลูมเบิร์กรายงาน นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ออกมาเตือนว่าอีกไม่นานประเทศในอาเซียนต้องเผชิญหน้ากับการเลือกข้างระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯและจีนที่กำลังมีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ เพราะมีความกังวลที่สงครามการค้าครั้งนี้จะพัฒนาขึ้นไปในรูปแบบสงครามเย็นอย่างในอดีตที่ประเทศต่างๆต้องเลือกว่าจะเข้าเป็นพันธมิตรกับฝ่ายไหน

การเอาตัวรอดในอดีตที่อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพยายามในการสร้างสมดุลกับสองมหาอำนาจเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งอย่างครั้งของสงครามเวียดนามมาเป็นเวลานานแล้ว กลยุทธ์ตรงนี้ทำให้สามารถคงความมั่นคงระหว่างปะเทศในอาเซียนและสองประเทศใหญ่ โดยมีการค้าขายกับจีนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังมีความสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯเพื่อป้องกันการอ้างสิทธิ์ขยายดินแดนของจีนในทะเลจีนใต้

เมื่อสงครามการค้าจะกลายเป็นสงครามเย็น

"อาเซียนอาจเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นเร็วเกินไป" ลี เซียนลุงกล่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในงานประชุมอาเซียนซัมมิท


ลีเซียนลุง

ความเห็นของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์สะท้อนความกลัวของประเทศเล็กๆ ต่างๆ ที่มีต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนในครั้งนี้ว่าจะกระทบต่อการควบรวมกันของห่วงโซ่อุปทานทั่วเอเชีย นำไปสู่ความยากลำบากของกฏเกณฑ์ต่างๆ ระหว่างสองมหาอำนาจ ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นายเฮนรี พอลสัน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลถึง "ม่านเหล็กเศรษฐกิจ" ที่สามารถแบ่งโลกได้หากทั้งสองประเทศยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงการสร้างพันธมิตรในระดับภูมิภาค คือการพบกันของ 4 ประเทศใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น หรือ "จตุรมิตร" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาในสิงคโปร์เพื่อพูดคุยตอกย้ำถึงฉันทมติร่วมกันเพื่อรักษาและเพิ่มความเข้มแข็งในกติกาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ประเทศทั้งหมดนั้นเป็นเอกราช เข้มแข็ง และมีความรุ่งเรือง 

ความกังวลของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ต่อภาวะสุ่มเสี่ยงที่อาจยกระดับขึ้นของสงครามการค้าในครั้งนี้ ทำให้นายลี เซียนลุงออกมาเรียกร้องให้มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และย้ำว่าประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้เมื่อต้องเลือกฝ่าย

"ตามทฤษฎีแล้วการควบรวมเศรษฐกิจเป็นภาวะที่ได้ทั้งคู่ แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกแยกออกจากกันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อาเซียนจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก" นายลีกล่าว

สหรัฐกดดันจีนด้วยประเด็นการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

ในขณะเดียวกัน นายไมก์ เพนซ์ รองประธานธิบดีสหรัฐฯ ก็ออกมาพูดถึงประเด็นที่จีนมีความพยายามในการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ โดยนายไมก์กล่าวในงานอาเซียนซัมมิทว่า "จักรวรรดิและการบุกรุก จะไม่มีที่ยืน" ในภูมิภาคนี้ โดยสหรัฐฯและพันธมิตรต่างๆ เรียกภูมิภาคนี้ว่า "อินโด-แปซิฟิก" เพื่อหวังกระตุ้นบทบาทของอินเดียให้เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ของจีน


ไมก์เพนซ์

นายไมก์ยังยืนยันถึงการปกป้องสิทธิ์ในการสำรวจพื้นที่เหนือทะเลจีนใต้ซึ่งจีนได้เข้าไปก่อตั้งกองกำลังทหารเหนือพื้นที่ที่จีนอ้างว่าเป็นของตนซึ่งกินพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทางทะเล

"ทะเลจีนใต้ไม่ได้เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง และพวกคุณมั่นใจได้เลยว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าสำรวจทั้งทางน้ำและทางอากาศ บนพื้นที่ไหนก็ได้ที่กฏหมายสากลอนุญาตและประเทศเราให้ความสนใจ" นายไมก์กล่าว

ดูเหมือนว่าพายุลูกใหญ่ครั้งนี้ นอกจากจะไม่อ่อนกำลังลงแล้ว ยังจะกลายเป็นทอร์นาโดพัดถล่มหลายประเทศทั่วโลก อาเซียนและไทยเลี่ยงพายูลูกนี้ไม่พ้นแน่นอน อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้ประเทศผ่านพายุลูกนี้ไปได้ในขณะที่มรสุมในประเทศก็ยังไม่อ่อนแรงลงเช่นกัน

ที่มา Bloomberg