ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพยุโรปเพิ่มความจริงจังในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยพุ่งเป้าที่การกำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือแอมะซอน และจะมีมาตรการลงโทษที่จริงจังแก่บริษัทที่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น

กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค. และจะมีบทลงโทษเว็บไซต์หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับประโยชน์จากการเก็บรวบรวมและจัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่เป็นปัจเจกบุคคล ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กชี้แจงหลักการ 7 ข้อที่บริษัทใช้ในการจัดการข้อมูลของผู้ใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.2561) โดยเฟซบุ๊กระบุว่า จะจัดทำวิดีโอแนะนำเรื่องความเป็นส่วนตัวแก่เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กเป็นอันดับต่อไป ส่วนกูเกิลและแอมะซอนยังไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้ 

หลักการ 7 ข้อที่เฟซบุ๊กใช้ในการจัดการข้อมูลของผู้ใช้งานกว่า 2,000 ล้านบัญชีทั่วโลก ได้แก่ (1.) เฟซบุ๊กให้ผู้ใช้งานควบคุมความเป็นส่วนตัวด้วยตัวเอง (2.) เฟซบุ๊กจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่ามีการใช้ข้อมูลของพวกเขาอย่างไร (3.) เฟซบุ๊กออกแบบความเป็นส่วนตัวให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทตั้งแต่เริ่มต้น (4.) เฟซบุ๊กทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลของผู้ใช้งาน (5.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง และสามารถลบออกได้ (6.) การปรับปรุงต้องมีความต่อเนื่อง และ (7.) เฟซบุ๊กมีความรับผิดชอบ 

ขณะที่เนื้อหาใน กม.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของอียูให้คำจำกัดความคำว่า 'ข้อมูลส่วนบุคคล' หมายถึงข้อมูลทั้งที่เข้ารหัสและไม่เข้ารหัส ซึ่งสามารถบ่งชี้หรือระบุตัวตนของบุคคลได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขไอพี ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต พิกัดที่ถูกจดจำในระบบอินเทอร์เน็ต ตลอดจนประวัติการรักษาพยาบาลต่างๆ 

ประเด็นสำคัญที่ทำให้อียูพยายามผลักดัน กม.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวเพื่อบังคับใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงคุ้มครองพลเมืองของตนที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เป็นผลจากที่บริษัทผู้ให้บริการด้านต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ถูกร้องเรียนมากขึ้นว่าผูกขาดด้านการบริการ และพยายามแสวงหาประโยชน์จากการเก็บบันทึกข้อมูลผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว

ที่ผ่านมามีผู้ใช้กูเกิลยื่นขอความคุ้มครองจากศาลยุโรป เพื่อให้เขาได้รับ 'สิทธิที่จะถูกลืม' หลังจากที่เขาได้รับผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือ เพราะข้อมูลสถานะทางการเงินที่ติดลบในอดีตของเขายังสามารถสืบค้นได้โดยระบบค้นหาข้อมูลของกูเกิล และศาลยุโรปตัดสินเมื่อปี 2557 ให้กูเกิลเคารพสิทธิดังกล่าวของผู้เป็นเจ้าของข้อมูล

ขณะที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาข่าวปลอมถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 และมีรายงานเบื้องต้นจากหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ระบุว่าผู้อยู่เบื้องหลังการเผยแพร่ข่าวปลอมคือองค์กรที่เชื่อมโยงกับรัสเซีย ซึ่งให้การสนับสนุนทางอ้อมแก่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ทำให้มีผู้เรียกร้องให้เฟซบุ๊กแสดงความรับผิดชอบต่อปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการชี้นำทางสังคมดังกล่าว

เดอะวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ รายงานด้วยว่า จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจด้านการลงทุนชื่อดังของโลก เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เฟซบุ๊กและกูเกิลในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสองราย ผูกขาดอำนาจในการจัดการข้อมูลออนไลน์ของผู้ใช้งานทั่วโลก จึงเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันสร้างกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้ข้อมูลบุคคลของผู้ให้บริการสื่อออนไลน์เหล่านี้อย่างจริงจัง

อ่านเพิ่มเติม: