กลุ่มมีเดียอินไซด์เอ้าท์จัดเสวนาหัวข้อ "การทำข่าวการเมือง-สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ไร้สิทธิมนุษยชน" โดยเชิญผู้สื่อข่าวที่ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนมาเล่าประสบการณ์การทำงานในภาวะที่ถูกจำกัดเสรีภาพ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2560
วิทยากร ประกอบด้วย “มุทิตา เชื้อชั่ง” อดีตผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท ผู้ได้รับรางวัล เอเอฟพี เคท เวบบ์ ประจำปี 2015 (Agence France-Presse Kate Webb), “นิติธร สุรบัณฑิตย์” ผู้ดำเนินรายการข่าวสถานีโทรทัศน์ Voice TV ผู้ได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2015 (Human Rights Media Awards) จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ “ประวิตร โรจนพฤกษ์” ผู้สื่อข่าวอาวุโสข่าวสดอิงลิช ผู้ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 จากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (CPJ's 2017 International Press Freedom Award) ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวแนะนำวิทยากรทั้ง 3 คนซึ่งเป็นนักข่าวที่ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนว่า รางวัลเป็นเครื่องยืนยันว่างานที่ทำมีคุณค่า มีความหมายสูงต่อแวดวงข่าวสาร ต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อเรื่องการเมืองและระบอบประชาธิปไตย วิทยากรทั้ง 3 ท่านเป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า เรายังมีผู้ที่พร้อมจะรายงาน พร้อมจะต่อสู้ให้ประชาชนได้รับข่าวสาร เป็นตัวแทนสิทธิเสียงของคนที่ปราศจากสิทธิเสียง ปราศจากสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
สำหรับการเสวนา ตอนหนึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากร ในประเด็นความเกลียดชัง โดย “ประวิตร” แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ที่ใช้คำว่า “รังเกียจเผด็จการ” ขณะที่ “มุทิตา” มองว่าต้องทำความเข้าใจบริบทที่ทำให้คำคำนี้เกิดขึ้น ด้าน “นิติธร” เห็นว่า ฝ่ายรัฐพยายามจัดการปัญหาความเกลียดชังซึ่งมีทั้งที่ได้ผลและที่ไม่ได้ผล
ประวิตร กล่าวว่า อยากให้คนไทยต่อสู้เพื่อความรักในสิทธิเสรีภาพ เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ไม่ใช้ความเกลียดชัง เพราะถ้าไม่พูดด้วยเหตุผลเราก็จะไม่ต่างจากทหารที่ไม่ได้ใช้เหตุผลแต่ใช้อำนาจทำให้กลัว ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้จะไปขอต่อญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายไหนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ก็คงลำบาก จึงอยากจะขอต่อคนที่ไม่มีญาติเสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ไม่อยากให้ต่อสู้ด้วยความเกลียดชัง เช่น การใช้คำว่ารังเกียจเผด็จการ เพราะความเกลียดชังจะทำให้จิตใจไม่สงบ
มุทิตา กล่าวว่า ความเกลียดชังเกิดจากบริบทที่มีการยึดอำนาจทางการเมือง เอาสิทธิการเลือกตั้งไป มีการจำกัดเสรีภาพและมีการกระทำต่างๆ คำว่าเกลียดจึงเกิดขึ้นในบริบทนี้ แต่การสู้ด้วยความเกลียดก็เผาตัวเอง ทำให้ไม่มีพื้นที่ความเป็นไปได้อื่นของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยก็มีประเด็นน่าวิจารณ์ นักการเมืองก็มีเรื่องน่าวิจารณ์ แต่ปัญหาคือไม่ว่าจะวิจารณ์ฝ่ายไหน เราได้ทำให้เป็นไปตามกติกาที่ให้สิทธิความเท่าเทียมกับทุกคนหรือเปล่า
สำหรับแคมเปญที่ใช้คำว่า “รังเกียจ” ส่วนตัวเข้าใจคนที่ถูกรังแกถูกกดทับมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเพราะมีการใช้อำนาจเยอะมาก คนที่ถูกกระทำหลายคนก็ไม่ได้เป็นที่รู้จัก ไม่มีอาวุธจะสู้ จึงเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าในต่างประเทศกรณีการใช้ถ้อยคำนี้ จะเป็นอาวุธที่ดีหรือไม่ มีแง่มุมอย่างไร ตอนนี้ก็พยายามทำความเข้าใจคนที่อยากจะพูดคำนี้ในยุคนี้
นิติธร กล่าวว่า เห็นด้วยกับ “ประวิตร” และ “มุทิตา” ว่าการสู้ด้วยความเกลียดอาจจะไม่ได้จุดจบอย่างที่หวังไว้ ส่วนตัวเวลาไปทำข่าวก็สัมผัสได้จริงๆ ว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้นจะบอกว่าไม่เกลียดก็ยากมากต่อการเยียวยาความรู้สึก และหลายคนก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาความรู้สึกด้วยซ้ำไป นอกจากนั้นยังเผชิญความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ทหารในพื้นที่ก็เข้าใจในปัญหานี้ จึงบริหารจัดการความเกลียด ซึ่งได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล เรื่องนี้สะท้อนว่า เวลาเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารไปทำอะไรต่อเหยื่อ ผลกระทบจะไม่ได้เกิดต่อเหยื่อคนนั้นเท่านั้น แต่ส่งผลต่อภาพรวม ปัญหาภาคใต้ที่แก้ไม่จบ ปัญหาหนึ่งในนั้น คือทัศนคติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้ ในการเสวนาวิทยากรแต่ละคนได้เล่าประสบการณ์การทำข่าวในสถานการณ์ไร้สิทธิมนุษยชน
นิติธร เล่าว่า เริ่มทำข่าวปลายตั้งแต่ปี 2556 ช่วงที่มีความขัดแย้งจนนำมาสู่การรัฐประหารครั้งล่าสุด ตอนนั้นอยู่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำข่าวเกี่ยวกับ NGO ต่อมาย้ายมา Voice TV ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คือช่วงที่มีการเลือกตั้ง แล้วต่อมาการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เท่ากับว่า ตั้งแต่ทำข่าวเป็นนักข่าวการเมืองจนสุดท้ายมาเป็นโปรดิวเซอร์สารคดี อยู่ในสภาวะการเมืองที่ไม่ปกติเลย
เคยคุยกับเพื่อนว่าถ้าทำข่าวในภาวะปกติในระบบรัฐสภาจะเป็นยังไง แต่ก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ ตอนนี้ก็ 3 ปีกว่าที่ยังอยู่ในระบบเดิม
สำหรับเรื่องที่กระทบการทำหน้าที่สื่อมวลชนมีหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะโดนแล้วโดน เช่น ปี 2558 จะมีการตั้งข้อหามาตรา 116 กับคนที่ต่อต้านรัฐหลายราย ไม่ว่าจะต่อต้านด้วยวิธีใดก็โดนมาตรา 116 ส่วนตัวตอนนั้นจัดรายการทีวี โดยอ่านรายงานจาก ilaw ที่บอกว่า ตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 มีจำนวนสูงมาก เพียงแค่หยิบรายงานมาอ่านออกอากาศ ไม่มีการคอมเมนท์ แต่ต่อมาก็ได้รับทราบว่า เรื่องนี้คณะอนุของ กสท. ซึ่งอยู่ภายใต้ กสทช. กำลังจะพิจารณา อาจจะมีการลงโทษหรือปรับเปลี่ยนเนื้อหารายการ
เราก็รู้สึกว่าเราเพียงแต่รายงานโดยไม่ได้คอมเมนท์ ทำไมจึงเป็นแบบนี้ แล้วก็รู้สึกลำบากใจถ้าจะทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ เป็นภาวะที่มีความกลัวและไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่เป็นความกลัวที่รู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นความกลัวที่น่ากลัวกว่าปกติ เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ผิด แต่สุดท้ายอาจจะผิด แล้วก็เป็นเช่นนั้นคือทางรายการถูกตักเตือน โชคดีที่ไม่ถูกปรับ ไม่งั้นตัวเราก็ไม่รู้จะทำยังไงจะเอาเงินมาจ่าย
นี่เป็น 1 ในหลายครั้งที่คนในช่องโดนเรื่องการนำเสนอเนื้อหา เป็นภาวะที่ยากลำบาก แม้จะทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้คอมเมนท์เหมือนพี่ประวิตร ไม่ได้ตั้งสเตตัส ไม่ได้ไปเวทีเสวนาที่ไหน เป็นเพียงการหยิบรายงานมาเล่าโดยไม่มีสีสันก็โดนแล้ว นี่เป็นเหตุการณ์ที่เจอเข้ากับตัวเอง
นิติธร บอกว่า เริ่มเป็นโปรดิวเซอร์สารคดีเชิงข่าวประมาณปลายปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นทำสเปเชียลรีพอร์ตประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก 33 อำเภอ อันนี้เจอกับตัวเองชัดเจน ขณะที่คนในกรุงเทพฯ เพิ่งโดนมาตรา 44 แต่คนภาคใต้โดนกันจนช้ำ โดน พรก.ฉุกเฉิน 32 อำเภอ อยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน 4 อำเภอและเพิ่งมีที่ประกาศเพิ่มไปอีกเมื่อไม่กี่วันนี้อีกจำนวนหนึ่ง
ตอนนั้นไปทำเรื่องการซ้อมทรมาน ไปคุยกับเคสครอบครัวหนึ่งที่ถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้ชัดเจนเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว แต่ว่าคดียังไม่ขึ้นสู่ศาลผ่านมา 8 ปีแล้ว
เวลาเราไปสัมภาษณ์ ทางแหล่งข่าวโทรบอกเลยว่า เรากลับออกมาแป๊บเดียวก็มีทหารเข้ามาที่บ้านเขาเลย มันเป็นภาวะที่เราก็ไม่รู้จะอธิบายแหล่งข่าวยังไงดี เพราะแหล่งข่าวก็ไม่ต้องการที่จะพูดอยู่แล้ว เรื่องมันผ่านไปแล้ว ก็กลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม พอเราลงไปก็ไปเพิ่มเรื่องให้เขาอีก ก็พบว่าเป็นแบบนี้อีกหลายบ้านที่เจอเช่นเดียวกัน คือเรารู้ว่าเราอธิบายได้ แต่ทหารในฐานะรัฐ ในพื้นที่ตรงนั้น มันไม่ง่ายที่จะมานั่งคุยกันเนื่องด้วยปัญหาที่ขัดแย้งยืดเยื้อยาวนาน
อีกแง่หนึ่ง สมมุติว่าเรื่องทรมาน เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งให้อำนาจค่ายทหารเป็นศูนย์ซักถามหรือสถานที่นำตัวคนที่ถูกจับกุมไปไว้ที่นั่น เมื่อเรามีโอกาสเข้าไปดู พยายามติดต่อขอเข้าไปตรวจสอบ แต่สุดท้ายพบว่า หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแนบเนียนขึ้นเท่าไหร่ ใช้เทคนิควิธีการมากขึ้นเท่าใด สื่อมวลชนจะทำงานตรวจสอบยากขึ้นเท่านั้น
“ผมเข้าไปดูพื้นที่ที่อ้างว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราเข้าไปดูจริง แต่เราก็ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลย ในอีกแง่หนึ่งก็มีวิทยาการที่บอกว่าเทคนิคการทรมานเปลี่ยนไป ไม่มีการแตะเนื้อต้องตัวให้เกิดแผล เราก็ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้อีก ผมคิดว่าสื่อทำงานหนักขึ้นมากในภาวะการตรวจสอบองค์กรที่มีอำนาจ เช่น ในจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ยิ่งทำงานยาก
เราคุยกับญาติก็เป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่การจะเข้าไปตรวจสอบอีกฝ่ายทำได้ยากมาก นี่ขนาดเป็นสื่อมวลชน ถ้าเป็นญาติ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปขอตรวจสอบ”
ล่าสุด ไปทำเรื่องเด็ก ในพื้นที่ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ยังพบว่ามีครอบครัวที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น บ้านที่สามีหรือพ่อซึ่งดูแลครอบครัวถูกหมายจับ แล้วเขาก็หนีไปนานแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็มาปิดล้อมบ้านเกือบทุกวัน คล้ายๆ ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน เพื่อให้ผู้ถูกหมายจับกลับมา พอเราไปทำรายงานออกมาไม่กี่วัน เขาก็เข้าพื้นที่เหมือนเดิม เป็นภาวะอีหลักอีเหลื่อ เราเกรงใจแหล่งข่าว แต่ครั้นจะไม่ทำก็ไม่ได้ ต้องใช้ความสามารถในการต่อรองอธิบาย
นิติธร กล่าวด้วยว่า กรณีสถานีโทรทัศน์ Voice TV ก็มีการเซ็น MOU กับ กสทช.เยอะ เป็นที่รับทราบกันว่าเราสามารถรายงานข่าวอะไรได้และอะไรไม่ได้ เป็นพันธะที่ไม่ใช่กับทหารแต่กับ กสทช. และทุกๆ ครั้งที่ Voice โดนร้องเรียนจึงไม่ใช่การเผชิญหน้ากับทหารโดยตรง แม้ทุกวันนี้ทหารยังมาเยี่ยมสถานี แต่เป็นการเผชิญหน้าผ่าน กสทช. คือ ถ้ามีอะไร เขาก็จะร้องเรียนผ่านอนุกรรมการ และบอร์ดนี้ ก็จะชงเรื่องร้องเรียนจำนวนมหาศาลเข้ามา เหมือนกับว่าตอนแรกไม่ได้อยู่ในขั้นตอนปกติ แต่พอเข้าสู่กระบวนการ กสทช. ก็นำมาสู่ความเป็น “ปกติ” ทั้งที่ MOU ไม่ใช่ พ.ร.บ. กสทช. เป็นเรื่องจากข้างนอก แล้วกำหนด MOU ขึ้นมากรณีพิเศษ แล้ว กสทช. ทำตาม MOU นี้ กลายเป็นทุกอย่างที่เทาบ้าง เกินไปบ้าง สามารถเข้ามาอยู่ในขั้นตอน “ปกติ” และได้รับการพิจารณาลงโทษหรือไม่ลงโทษในนามของกฎหมาย
มุทิตา บอกว่า ตอนนี้ไม่ได้ทำข่าวแล้ว แต่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้สื่อข่าวประชาไทมา 12 ปี เริ่มต้นปี 2547 เรียนจบพอดี ช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไทซึ่งมีปรัชญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ขณะที่ตั้งแต่ช่วงนั้นบ้านเมืองก็มีปัญหาต่อเนื่องมายาวนาน การเมืองมีความขัดแย้ง ส่วนตัวได้เข้าไปทำข่าวคดีมาตรา 112 โดยมีความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยู่แล้ว
ประชาไท เป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ จึงอนุญาตให้รายงานข่าวในประเด็นเหล่านี้ได้ เพราะไม่ใช่องค์กรใหญ่ที่ต้องทำมาหากิน ในทางธุรกิจ แต่เป็นองค์กรที่มีปรัชญาแตกต่าง เพราะฉะนั้น หลายๆ อย่างมันประกอบกัน ไม่ใช่เพราะตัวเราคนเดียวที่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่มันเหมาะเจาะพอดี ก็เลยได้ทำ
ตอนนั้นยังเด็กมาก ติดตามคดีมาตรา 112 เห็นคนได้รับโทษจำคุก 18 ปี รู้สึกว่าเป็นโทษที่นานมากและเห็นว่าไม่ค่อยมีใครติดตาม จึงเป็นแรงบันดาลใจเริ่มติดตามคดีมาตรา 112 อย่างจริงจัง
มุทิตา กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ทำข่าวมา 10 กว่าปี เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในรัฐบาลพลเรือนก็มีความยากลำบากแบบหนึ่ง แต่ยังเทียบไม่ได้กับรัฐบาลทหาร แม้รัฐบาลพลเรือนมีปัญหาละเมิดสิทธิไม่น้อยเช่นในภาคใต้ แต่คนทำข่าวจะมีแรงขับที่ต่างจากตอนนี้ คือไม่ต้องกังวลที่จะถูกฟ้อง ถ้าถูกฟ้องก็ยังรู้สึกว่ามันอยู่ในร่องในรอยปกติ
แต่หลังรัฐประหารเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เช่น คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ หายไปในค่าย แม้จะเป็นคนมีชื่อเสียงมีคนรู้จัก เช่นเดียวกันยังมีคนที่ประสบชะตากรรมอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้คนทำงานสั่นสะเทือน โดยเฉพาะ เพื่อนฝูงที่อยู่องค์กรใหญ่ๆ องค์กรเขาก็ไม่พร้อมเสี่ยงเพราะเป็นธุรกิจร้อยล้านพันล้าน เขาไม่ยอมเสี่ยง แม้ว่าเขาจะรู้สึก
ส่วนองค์กรเล็กๆ อย่างประชาไทก็เคยโดนปิดเว็บปิดแล้วปิดอีก เราก็หาทางอัพข่าวในเฟซบุคว่าใครโดนจับโดนตอนกี่โมง ต้องคอยเช็คตามกองปราบว่าใครโดนจับที่ไหน ใครไปชูป้ายที่ไหน ก็วิ่งรอกแบบนั้น ทำข่าวท่ามกลางความไม่มั่นใจ เพราะมีประกาศห้ามเขียนข่าวสร้างความแตกแยก แล้วคนอื่นก็ไม่ได้พูดอะไรในช่วงนั้น
“โชคดีช่วงนั้นมีการซับพอร์ตจากทีมที่บ้าๆ บอๆ เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น สมมุติถ้าเราเป็นคนกล้าหาญ แต่ต้องอยู่คนเดียวแล้วทีมไม่เอาด้วย ไม่มีใครเห็นด้วย มีแต่คนคอยเหยียบซ้ำ คอยสงสารคอยสมเพชว่าจะทำไปทำไม เราก็จะโดดเดี่ยว แต่บรรยากาศที่มีทีมเข้าใจเรื่องนี้เหมือนกัน ก็ทำให้สามารถทำงานไปได้เรื่อย
จุดที่อันตรายของการทำวิชาชีพนี้คือถ้าทำแล้วรู้สึกกังวลว่าจะโดนอะไรไหม จนถึงขั้นกลัว กลัวสวัสดิภาพตัวเอง สวัสดิภาพองค์กร สวัสดิภาพแหล่งข่าว เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงเซลฟ์เซ็นเซอร์ชิฟ ซึ่งทุกคนอาจจะต้องเจอไม่มากก็น้อย แต่เรามีคาถาปลอบใจตัวเอง ว่า เรากลัวความปลอดภัยของแหล่งข่าว เราก็จะปลอบใจตัวเองว่าบางอย่างที่เรารู้ แต่จังหวะที่จะรายงานยังทำไม่ได้ตอนนี้ จึงต้องเก็บไว้ก่อน แต่ก็มีข้อเสียคือไม่ได้ตีเหล็กตอนร้อน
ที่แย่กว่านั้นคือความเคยชิน เราก็จะรู้สึกว่ากลัวกันจนชิน เซล์ฟเซ็นเซอร์ไว้ก่อน ไม่พยายามไต่เส้นหรือจ่ายราคาความเสี่ยงอะไรทั้งสิ้น เรามีข้ออ้างร้อยแปดพันก้าวที่จะอธิบายตัวเองว่าทำไมเราถึงไม่ทำ แล้วเราชิน อันนี้อันตราย ถ้าถึงขั้นนี้ก็ควรจะเปลี่ยนโหมดไปทำอย่างอื่น
ถ้าเราตระหนักว่าเราชิน สเต็ปต่อไปก็คือความสิ้นหวัง พอเราสิ้นหวังเราก็ไม่มีแรงจะทำอะไร ไม่มีแรงจะคิด นี่คือหนทางหายนะ สำหรับอาชีพนี้ที่พอจะสรุปได้ ถามว่าตัวเองเป็นไหม เรายังไม่ถึงขั้นนั้นแต่บางช่วงก็เข้าไปแตะทุกจุดที่อธิบายมา” มุทิตากล่าว
มุทิตา เล่าถึงความรู้สึกกรณีถูกเซ็นเซอร์จากต้นสังกัดว่า แต่ละคนอาจมีบุคคลิกแตกต่างกัน ส่วนตัวไม่มีอีโก้มาก ฉะนั้น เวลาเจอการเซ็นเซอร์ ก็จะไม่ค่อยโกรธใครและโชคดี ที่เป็นคนขี้กลัวไม่ใช่คนกล้าหาญ อย่างคุณประวิตรที่ไปยืนเอาสก๊อตเทปปิดปาก ส่วนตัวจะไม่ทำแน่นอน อยากจะเป็นเพียงคนเล่าเรื่องเฉยๆ และอยากจะรู้ว่าทำไมแหล่งข่าวคิดแบบนี้โดนแบบนี้
เวลาที่ตัวเองไม่แน่ใจ สิ่งที่ทำคือปรึกษาเพื่อนในองค์กร เช่น ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เขาก็ด่าว่ากลัวทำไม และ พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ อีกคน เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนไม่คิดหน้าคิดหลังหรือเปล่า(หัวเราะ) แต่เขาแสดงออกกับน้องๆ และคนทำงานแบบที่ทำให้เราก็บ้าระห่ำไปด้วย เราให้เขาตัดสินใจเองว่าจะเซ็นเซอร์ไหม ฉะนั้น ส่วนตัวรู้สึกมีปัญหาน้อยมากและโชคดีที่ทีมงานเป็นส่วนซับพอร์ตและอาจจะเป็นไปได้ว่า ยังไม่ได้ไปแตะอะไรที่แหลมคมจริงๆ ที่ทุกคนสยองซึ่งน่าจะมีในยุคนี้
ประวิตร กล่าวว่า สิ่งที่ระลึกถึงเสมอในการปฏิบัติหน้าที่สื่อคือ เราจะไม่ยอมให้การปกครองระบอบทหารเป็นเรื่องปกติ บางคนอาจจะถามว่า หน้าที่สื่อก็คือรายงานไปหรือเปล่า ใครยึดอำนาจก็รายงานข่าวกลุ่มที่ยึดอำนาจและรัฐบาลทหาร ก็น่าจะจบหรือไม่ พูดแฟร์ๆ ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ จำนวนไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารได้ในระดับหนึ่ง อันนี้ต้องยอมรับก่อนว่าสถานการณ์ก็คงต่างจากเกาหลีเหนือ
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าสื่อส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลเผด็จการทหารที่มาจากการยึดอำนาจ ไม่ต่างจากรัฐบาลปกติที่มีความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้งแล้ว สื่อก็จะมีส่วนในการร่วมสังฆกรรมทำให้ระบอบเผด็จการทหารอยู่ต่อไป ไม่เพียงแต่อยู่ต่อไปในระบอบทหารภายใต้ คสช. ในปัจจุบัน แต่จะเป็นบัตรเชิญให้ทหารในอนาคต คิดว่า ถ้ายึดอำนาจก็ไม่เป็นไร เพราะสื่อก็พร้อมจะเขียนบทบรรณาธิการออกมาทำนองว่าแม้ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจขัดหลักสากล แต่ก็ยึดอำนาจไปแล้วจะทำยังไง เพราะฉะนั้น ก็รอดูแล้วกัน แถมผู้นำรัฐประหารก็บอกว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน ขอเวลาอีกไม่นาน
“เพราะฉะนั้นสิ่งแรกเลยที่ผมอาจจะต่างจากสื่อส่วนใหญ่คือ เวลาเขียนงานหรือแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย ต้องย้ำความไร้ความชอบธรรมของระบอบทหาร ผลคือ 3 ปีครึ่งที่ผ่านมาถูกปรับทัศนคติ 2 รอบ และโดน ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกห้ามไปต่างประเทศ 1 ครั้ง เราคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำทิ้งไว้
เรายังต้องมาต่อสู้ในสิ่งพื้นฐานมากๆ เช่น เสรีภาพในการพูดสิ่งที่เราคิด ทำไมคนต้องติดคุกเพียงเพราะพูดสิ่งที่คิดไม่ว่าเรื่องอะไร การพูดการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์มาก เรากำลังสู้สิ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ”
ประวิตร กล่าวด้วยว่า สภาพความเป็นจริงของการเซ็นเซอร์ตัวเองในสังคมไทยมีเรื่องที่หลายช่องต้องไปเซ็น MOU กับ กสทช. หรือจะถูกกดดันผ่านรูปแบบอะไรต่างๆ กลายเป็นเรื่องกำลังถูกทำให้ “ปกติ” แล้วผมระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องไม่ยอมให้เป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าเป็นเรื่องปกติเมื่อไหร่ สังคมก็สิ้นหวัง เพราะประชาชนและสื่อไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก
“ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการเซ็นเซอร์ตัวเอง ตัวผมเองก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่มีใครหรือสื่อใดในประเทศที่ไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เรื่องทหารผมแทบจะไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ผลที่ออกมาคือถูกขัง 2 รอบ โดยรอบที่ 2 ถูกปิดตาเอาขึ้นรถตู้ป้ายทะเบียนที่ไม่ใช่ของรัฐ ขับออกไปกลางดึก ไปชั่วโมงกว่า ตอนอยู่ในรถ ถ้าเขาจะทำอะไรผม ผมก็คงทำอะไรไม่ได้ แล้วเอาไปปล่อยในห้อง 4 x 4 ตารางเมตร ไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวัน
ผมอยากจะให้เรามองไปไกลๆ ว่าไม่มีสังคมไหนที่ได้อะไรมาฟรีๆ โดยเฉพาะเสรีภาพและประชาธิปไตยนี่ก็เป็นราคาที่ต้องจ่าย เป็นหน้าที่ที่ต้องทำต่อ”
ประวิตร กล่าวต่อไปว่า ในด้านหนึ่งสื่อไทยจำนวนมากไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้ผิดปกติและปฏิบัติราวกับรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันก็ยังเชียร์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
เป็นภาวะที่ค่อนข้างวิปริต ซึ่งต่างประเทศก็จะงงๆ ว่าทำไมสื่อจำนวนหนึ่ง รับได้หรือถึงกระทั่งทำตัวกึ่งพีอาร์ให้ระบอบทหาร ต่างประเทศไม่เข้าใจ สุดท้ายคำตอบก็มาอยู่ตรงที่ว่า สื่อไทยจำนวนหนึ่งเลือกแล้วที่จะตัดสินใจแล้ว พวกเขามองว่าระบอบทหารน่าจะดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะฉะนั้น มันก็เป็นทางเลือกที่พวกเขาได้เลือก
แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกว่า นั่นเป็นสิทธิที่พวกเขาจะเลือก เพราะก็ต้องถกเถียงว่าสิ่งที่เขาเลือกมันถูกหรือผิด เป็นการมองการณ์ไกลหรือมองการณ์สั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นการมองการณ์สั้นอย่างแน่นอน เพราะว่าเรากำลังทำลายระบบ โดยการเอื้อหรือสนับสนุนการยึดอำนาจโดยไม่ยึดตัวบทกฎหมาย เรากำลังเอื้อให้สังคมไม่มีขื่อไม่มีแปร ไม่มีพันธะทางสังคมร่วมกัน ไม่มีโซเชียลคอนแทรคร่วมกัน มันก็จะถึงจุดที่ทุกคนใช้กำลังใช้อำนาจใช้ความรุนแรง โดยที่ไม่มีใครฟังใคร
ประวิตร เล่าด้วยว่า เคยบอกทหารตอนถูกจับขังรอบแรกที่ค่ายที่ราชบุรีตั้งแต่ พ.ค. 2557 ว่าปัจจัยที่ต่างจากหลังรัฐประหารปี 49 คือการขยายตัวและเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะรับมือ
“ทุกวันนี้เราก็เห็นความพยายามแบนคนจากเฟซบุคซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนี่คือพื้นที่สาธารณะใหม่ new public sphere ข้อจำกัดต่างๆ มันไม่ได้ผล หรือถ้าวันหนึ่งผมหายไปไหน คนอื่นก็แสดงความเห็นในเฟซบุคในทวิตเตอร์ พื้นที่เหล่านี้ทุกวันนี้เป็นพื้นที่แสดงความเห็นอย่างเท่าทัน อาจจะมีอารมณ์ร่วมบ้างมีเฮทสปีชบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่สังคมจะต้องเรียนรู้ มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าการขยายตัวแบบก้าวกระโดดหรือบทบาทของโซเชียลมีเดียที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดด สังคมจะถูกดึงกลับไปสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้ไหม แต่ผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้
แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้าย ผมก็ยังมีความหวังว่าสังคมไทยรวมถึงสื่อไทยจำนวนหนึ่ง น่าจะยังสามมารถที่จะยืนหยัดและยืนยันไม่ให้สังคมถูกผลักถอยหลังด้านสิทธิเสรีภาพมากกว่านี้ ผมยังไม่สิ้นหวัง” ประวิตรกล่าว
ในช่วงท้ายของการเสวนา มีนิสิตจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมาร่วมรับฟังในงาน ได้ตั้งคำถามต่อวิทยากรว่า สถานการณ์หลังการรัฐประหาร 2549 กับการรัฐประหาร 2557 มีความแตกต่างกันอย่างไร
“นิติธร” กล่าวว่า หลังปี 2557 มีการนำสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายหรืออยู่นอกกฎหมายมาใส่ไว้ในกฎหมายจนเป็นความเคยชินว่ามันคือกฎหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะพัฒนาเป็น 4.0 หรืออะไรในเชิงยุทธศาสตร์หรือไม่ ไม่แน่ใจว่าจากความไม่ปกติ กลายเป็นปกติ และสุดท้ายจะกลายเป็นอายุวัฒนะที่จะต้องดำเนินต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล คาดว่าสื่อส่วนใหญ่ก็รู้ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างจึงทำให้เป็นเช่นนี้
ประวิตร กล่าวว่า การที่ต้องให้ กสทช. มี MOU มีการใช้ มาตรา116 มีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงส่งทหารไปเยี่ยมไปกินกาแฟทั้งหมดเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า ความพยายามกดความต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนไทยจำนวนมากนั้นล้มเหลว ไม่สำเร็จในระยะยาว ถ้าสำเร็จก็ไม่ต้องมีปฏิบัติการเหล่านี้ รวมทั้งสื่อก็จะเซ็นเซอร์ตัวเองหมดโดยไม่มีข้อแม้ ประชาชนก็จะไม่ขัดขืน นั่นคือการแพ้อย่างราบคาบ ผมว่าทั้ง 2 ฝั่งสลับกันแพ้สลับกันชนะ ฐานของอำนาจอาจจะแตกต่างกัน แต่นี่เป็นการต่อสู้แบบยาวนาน คงต้องสู้ไปอีกไม่น้อยและสิ่งที่เป็นเดิมพันคือสิทธิเสรีภาพของสังคมไทยและอนาคตของสังคมว่าจะปกครองด้วยระบอบไหน
“การต่อสู้นี้ยืดเยื้อยาวนาน ผมยังมองไม่เห็นว่าจะจบอย่างไร ภายในระยะเวลาอันสั้นๆ อีกตัวอย่างที่เห็นชัดคือการไม่ยอมปลดล็อคนักการเมือง ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเลยว่า เขารู้สึกว่าคุมไม้ได้ ถ้าคุมได้ ถึงปลดไป นักการเมืองก็ยอม เหมือนเมืองจีนซึ่งคุมนักการเมืองได้ หรือเวียดนามก็ควบคุมได้ แต่หากขัดขืนก็จำคุก เช่นบล็อคเกอร์ติดคุก 7 ปี หรือกัมพูชาก็มีคนหนี ส่วนของไทยฝั่งประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งก็หนีไปต่างประเทศ แต่ที่ยังสู้อยู่ในนี้ก็ยังพอมีอยู่ และข้อจำกัดที่เขาพยายามจะใช้ต่างๆ เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า 3 ปีครึ่งผ่านไป เขาไม่ได้ชนะใจฝั่งประชาธิปไตยเลย ไม่เพียงแต่ไม่ชนะใจ ผมกลับเป็นห่วงว่าเขากลับสร้างความรังเกียจ เกลียดชัง ซึ่งบ่อนทำลายสังคม” ประวิตรกล่าว
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งมารับฟังการเสวนา ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า งานด้านสิทธิมนุษยชน งานการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนก็ต้องพึ่งสื่อ ส่วนตัวยังมีความหวังกับสื่อรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้ทำงาน เช่น งานสารคดีซึ่งเป็นประโยชน์มาก ขณะที่งานข่าวบางทีมีกระแสแป๊บเดียว แต่งานสารคดีที่เจาะลึกบางกรณีเราได้นำมาใช้สื่อต่อสารสาธารณะ ในมุมสิทธิมนุษยชน จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน