นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วยนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงาน กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นมา พบว่า สถานการณ์มีทิศทางที่ดีขึ้น จำนวนช่องที่มีการออกอากาศโฆษณาผิดกฎหมายมีจำนวนลดลง
โดยตั้งแต่วันที่ 16-18 พ.ค. 2561 พบว่า มีทีวีดิจิทัลเพียง 2 ช่อง ที่ออกอากาศโฆษณาอาหารและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ ช่องสปริงนิวส์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร REAL อัลฟ่า คลอโรฟิลล์ และช่อง Nation TV ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชาริส
ส่วนช่องโทรทัศน์ดาวเทียม/เคเบิลทีวี มีทั้งหมด 10 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ แต่การโฆษณาในฝั่งเว็บไซต์มีจำนวนเพิ่มขึ้น 20 URL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่ามีผลกับโครงสร้างของร่างกาย การเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเพื่อการรักษาโรค
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจากวันที่ 4-15 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมมือกัน สำนักงาน กสทช. ได้ระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายในทีวีดิจิทัลไปแล้วจำนวน 7 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม/เคเบิลทีวีจำนวน 25 ช่อง 22 ผลิตภัณฑ์ และเว็บไซต์จำนวน 10 URL
"เชื่อว่าในช่วง 1-2 เดือนจากนี้แนวโน้มโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ผิดกฎหมายที่ออกอากาศผ่านโทรทัศน์จะมีจำนวนลดลง" นายฐากร กล่าว
ด้านเภสัชกรสมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าโฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ส่วนเครื่องสำอางจะเป็นลักษณะการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย เช่น การปรับสีผิว ผิวขาว หยุดผมร่วง เป็นต้น
ส่วนโฆษณาผ่านเว็บไซต์ที่พบเป็นเรื่องการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งได้ส่งเรื่องให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแล้ว
อย.เปิดเว็บไซต์ sure.oryor.com ให้ข้อมูลประชาชนก่อนแชร์ข้อความผ่านโซเชียล
ด้าน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการส่งต่อข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับการบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพและการรักษาโรคผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่น การแอบอ้างว่ายาพาราเซตามอลปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาชูโป้ หรือน้ำว่านหางจระเข้สามารถรักษาโรคจากเชื้อไวรัสอีโบล่าได้ หรือการพบยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) ในประเทศไทย และเคยมีข่าวว่ายา PPA ทำให้เลือดออกในสมอง แต่ข้อความทั้งหมดเป็นข้อมูลเท็จซึ่งยังคงถูกส่งต่อกันในสื่อโซเชียล
ดังนั้น อย. จึงทำแคมเปญ 'เช็ค ชัวร์ แชร์' ผ่านเว็บไซต์ sure.oryor.com เพื่อให้ข้อเท็จจริงและความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับการบริโภคเพื่อสุขภาพ และรักษาโรคที่ส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับอย่างละเอียดรอบครอบ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูล เช็คความน่าเชื่อถือ เช็คความถูกต้องให้ชัวร์ก่อน ที่จะแชร์หรือส่งต่อข้อมูลให้สังคม
ภาพจาก : Photo by Matthias Blonski on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :