นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้พื้นที่ทางภาคใต้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ประชาชนเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้
จากข้อมูลสำนักระบาด กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 20 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายทั้งหมด 3,437 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 25-34 ปี รองลงมาคือ 15-24 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ทางภาคใต้ ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัตตานี สงขลา ภูเก็ต ระนอง และพังงา ตามลำดับ
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการจะคล้ายโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก โดยอาการของโรค คือมีไข้ ออกผื่นและมีอาการปวดข้อ ข้อบวม เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา หากประชาชน มีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยการทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ถาดรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ เป็นต้น