ไม่พบผลการค้นหา
บ���านไม้สีน้ำตาลเข้มหลังนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นบ้านเก่าที่ได้รับการปรับปรุงและตกแต่งใหม่ ลักษณะบ้านยกพื้นเล็กน้อย รูปทรงเป็นแบบมลายู นี่คือบ้านของฮัจยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ตวนมีนาล หรือ โต๊ะมีนา บ้านหลังนี้เพิ่งจะกลับมามีชีวิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลังจากที่ปิดตัวเองมาอย่างเนิ่นนาน การเปิดบ้านขึ้นมาใหม่เป็นไปในสถานการณ์ที่เรื่องราวเดิมๆ ปรากฎจุดหักเห ทว่าในชนิดที่แทบจะมองไม่ออก

“มีอาจารย์หลายท่าน นักวิชาการจากกรุงเทพ มักจะพูดว่าถ้าสนใจปัญหาชายแดนใต้ ไม่อาจจะละเลยชื่อของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนาได้ เพราะว่านักวิชาการเหล่านั้นคิดว่า ฮัจยีสุหลงเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งยุคใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้” จาตุรนต์ เอี่ยมโสภา หลานของฮัจยีสุหลงสะท้อนภาพความสำคัญของเขาในบริบทสามจังหวัดภาคใต้ 

ฮัจยีสุหลงถูกจับในข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนในปี 2491 เขาถูกศาลตัดสินให้ต้องจำคุก 4 ปี 8 เดือน แต่จาตุรนต์บอกว่าข้อหาที่ทำให้ฮัจยีสุหลงถูกตัดสินลงโทษนั้นกลับไม่ใช่ข้อหาของการเป็นกบฎอันเป็นข้อหาที่ศาลยกฟ้อง แต่ที่ถูกตัดสินจำคุกนั้นเป็นข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาล


HSL3.JPG

จาตุรนต์ เอี่ยมโสภา (ผู้ชายเสื้อคอปกแขนสั้นสีบานเย็น) หลานของฮัจยีสุหลง

อย่างไรก็ตาม ข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดนกลับกลายเป็นเงาติดตามตัวฮัจยีสุหลงอย่างแกะไม่ออก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการที่ฮัจยีสุหลงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้คนในพื้นที่สามจังหวัดได้มีสิทธิและเสียงมากขึ้นในการรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอง ความเคลื่อนไหวนี้เป็นเรื่องร้ายแรงในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐในเวลานั้น

แต่สำหรับคนในพื้นที่ เขาคือผู้ที่ต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของมลายูมุสลิม และเมื่อฮัจยีสุหลงหายตัวไป อันเป็นการหายตัวที่เชื่อกันว่าเป็นการถูกอุ้มฆ่า นั่นยิ่งเสริมสถานภาพของเขาในฐานะเป็นวีรบุรุษในสายตาคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สะท้อนมุมมองที่อยู่ตรงข้ามกันในพื้นที่นี้



https://scontent.fbkk12-1.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/14040006_1131471070244239_2329547789962284457_n.jpg?_nc_cat=0&oh=52aa9cecb923f790c45a842388b1bb09&oe=5C0F492B

บ้านเก่าของฮัจยีสุหลงหลังไม่ใหญ่ ชานไม้หน้าบ้านเชื่อมเข้าสู่ห้องโถงตรงกลาง ซึ่งมีประตูด้านข้างเปิดออกไปสู่ห้องทางขวาที่เคยเป็นห้องนอน และห้องทางซ้ายมือที่เคยเป็นห้องทำงาน ทุกห้องมีรูปของฮัจยีสุหลงที่เหล่าศิลปินวาดไว้หลายๆ แบบ แต่ไม่ว่าจะรูปใดส่วนใหญ่ก็เป็นรูปเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าอันที่จริงแล้วภาพความทรงจำเกี่ยวกับฮัจยีสุหลงมาจากภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างยิ่ง ที่ห้องด้่านหลัง มีลูกกรงพร้อมภาพของฮัจยีสุหลงอยู่กับลูกกรงอันนั้น จาตุรนต์บอกว่า ภาพนี้ศิลปินในพื้นที่คือเจ๊ะอับดุลเลาะห์ เจ๊ะสอเฮาะนำไปแสดงในงานที่ครอบครัวจัดขึ้นในช่วงครบรอบ 63 ปีของการสูญหายของฮัจยีสุหลง ภาพนั้นดูจะมีเจตนาให้เห็นนัยบางอย่าง

“เหมือนกับฮัจยีสุหลงถูกคุมขัง ในความเป็นจริงคืออยากสะท้อนว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือคนในพื้นที่ ฮัจยีสุหลงถูกกักขังอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั้งสองฝ่าย โดยที่มีกรอบความคิดอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา คือยังถูกขังอยู่ในความคิดของคนในยุคปัจจุบันอยู่ ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปนานแค่ไหน เพราะจะมีคำอธิบายถึงฮัจยีสุหลงสองชุดเสมอว่าเป็นกบฏหรือว่าที่จริงแล้วเป็นวีรบุรุษ”

นั่นคือฮัจยีสุหลงในความทรงจำของผู้คน มันขึ้นอยู่กับว่าคนที่มองเข้าไปจะอยู่ที่จุดไหน

“ฮัจยีสุหลงเป็นสัญลักษณ์ของทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต่อสู้เพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง กับฝ่ายที่ต้องมาปราบปราม คืออยู่ในความหมายของทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งบอกเป็นกบฏ แต่ในทางฝั่งขบวนการหรือผู้เห็นต่าง ก็ถือว่านี่ไงเพราะฮัจยีสุหลงถูกอุ้มฆ่า เราก็ต้องต่อสู้ด้วยอีกวิธีหนึ่ง มันก็เลยเป็นปฐมบท เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

แต่ภาพไม่ได้อยู่แค่ความทรงจำ มันเป็นสิ่งที่ส่งอิทธิพลและผลสะเทือนต่อชีวิตคนตลอดจนการมองปัญหาและการแก้ปัญหาภาคใต้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบต่อคนในครอบครัวโต๊ะมีนา ยี่ห้อของการเป็นกบฎถูกตีตราติดกับครอบครัวนี้อย่างเนิ่นนาน และมันนำมาซึ่งข้อกล่าวหาเดิมซ้ำๆ เรื่อยๆ เช่นที่ 'เด่น โต๊ะมีนา' เคยเป็นนักการเมืองตัวแทนของพื้นที่มักถูกกล่าวหาเสมอมาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่หวนคืนสู่สามจังหวัดภาคใต้ระลอกใหม่ 

“กลายเป็นว่า พออยู่ในตระกูลหรือว่าในครอบครัวโต๊ะมีนา ออกไปข้างนอกเขากาหัวไว้แล้ว นี่ครอบครัวโจร ครอบครัวกบฏ ปู่มัน ตามัน เป็นกบฏ... ตั้งแต่เด็กแล้วเราเห็นภาพการเข้ามาค้นบ้าน มาจับกุมคนในบ้าน เหตุการณ์ที่เกิดสิบกว่าปีที่ผ่านมากับครอบครัวอื่นๆ บ้านเราสัมผัสมาหมดแล้ว เราถึงเข้าใจความเจ็บปวด ความอัดอั้นตันใจของคนที่ถูกค้นบ้าน คนที่ถูกจับกุมคุมขัง รู้สึกยังไง”

คนในตระกูลโต๊ะมีนากับตระกูลต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน เพิ่งจะมานัดหมายพบปะกันอย่างจริงจังเอาเมื่อไม่กี่ปีให้หลังนี้เอง ลูกหลานหลายคนยังต้องมารับฟังเรื่องราวของบุคคลในตระกูลของพวกเขาเองจากคนนอกที่ศึกษาเรื่องราวของฮัจยีสุหลง

และผลกระทบนั้นไม่ได้มีเฉพาะกับคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ผู้คนที่จะปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวนี้ก็หวาดกลัวไปด้วย “ยกตัวอย่างง่ายๆ บ้านนี้ไม่เคยปิด แต่คนไม่กล้าเข้า เข้ามาแล้วกลัวจะถูกโยงใยคดีความมั่นคง”


HSL2.JPG

งานศึกษาเกี่ยวกับฮัจยีสุหลงพูดถึงเขาในฐานะนักการศาสนาที่เดิมอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบีย แต่เดินทางกลับมาเยี่ยมสถานที่อันเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษ เขาค้นพบว่าระดับความเข้าใจต่อศาสนาของมุสลิมในพื้นที่ในเวลานั้นยังห่างไกลจากที่อื่นอยู่มาก เขาตัดสินใจพำนักอยู่ต่อในปัตตานีและเปิดโรงเรียนสอนศาสนาพร้อมทั้งเผยแพร่ความเข้าใจในเรื่องของศาสนาอย่างแข็งขัน

ฮัจยีสุหลงได้เป็นประธานกรรมการอิสลามของปัตตานี แต่เขาค้นพบปัญหาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลายอย่างเป็นเงื่อนปมที่เชื่อมโยงกับมาตรการของทางการ ในที่สุดเขาได้รวบรวมความต้องการของประชาชนนำเสนอเป็นข้อเรียกร้อง 7 ข้อให้กับรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข การกระทำเช่นนั้นนำปัญหามาสู่ฮัจยีสุหลง เขาถูกมองว่ายั่วยุและกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ถูกจับ ได้รับการปล่อยตัว แต่ทว่าหายไปในที่สุดบนเส้นทางของการได้รับการเชิญตัวไปพบบุคคลระดับสูง

'จาตุรนต์' บอกว่าสำหรับในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ คำนิยามสำหรับฮัจยีสุหลงคือเขาเป็น “นักต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นคนมลายูในปัตตานี” ในข้อเรียกร้อง 7 ข้อนั้นมีเรื่องของการให้ใช้ภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย หรือการใช้ภาษีท้องถิ่นในการดูแลตัวเองก่อน จนถึงวันนี้ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ยังคงเป็นข้อเรียกร้องที่หลายคนเห็นว่าทันสมัยอยู่ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ภาพของฮัจยีสุหลงติดอยู่ในกรอบความทรงจำที่เป็นภาพขัดแย้ง ว่าเขาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนมลายูปัตตานีหรือว่าเป็นกบฎกันแน่

แต่เมื่อเรื่องราวของกลุ่มที่ต่อสู้รัฐในสามจังหวัดภาคใต้กระจ่างชัดมากขึ้นตามลำดับในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ภาพของกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนและเคลื่อนไหวจริงจังปรากฎ ข้อกล่าวหาแบบเหวี่ยงแหที่หลายคนในพื้นที่เคยประสบก็เริ่มลดลง ภาพที่ชัดขึ้นคือความเชื่อมโยงในเชิงบริบทระหว่างสิ่งที่ฮัจยีสุหลงพยายามชี้ให้เห็นกับปัญหา

สำหรับคนที่อยากจะทำความเข้าใจกับต้นตอของปัญหา กรณีของฮัจยีสุหลงกลายเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ยิ่งการสูญหายของฮัจยีสุหลง ยิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์การคงอยู่ของปัญหาบางประการที่มองผาดๆ คล้ายกับจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ สถานะของฮัจยีสุหลงยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือการตีความความทรงจำอันนี้ มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่แทบจะมองไม่ออก

“หลังจากมีเหตุการณ์ ทุกคนเข้ามาสอบถามเราว่า เข้ามาเยี่ยมบ้านได้ไหม เจ้าหน้าที่รัฐก็มา คนทั่วไป ประชาชนที่สนใจก็มา บริบทที่พูดถึงฮัจยีสุหลงเปลี่ยนไป จากอดีตถึงปัจจุบัน ต่างกันเยอะ ในอดีตคนพูดถึงฮัจยีสุหลงในแง่ที่วางตายตัวว่ายังไงก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏหรืออะไรอย่างนี้แน่นอน แต่ในสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ มีการพูดถึงเป็นวิชาการมากขึ้น ตัดความรู้สึกออกไป”

ขณะที่ ภาพของกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สงบในพื้นที่ถูกคลี่ออกจนเห็นชัดมากขึ้นนั้น ภาพของปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้และเรื่องราวของฮัจยีสุหลงในสังคมไทยก็ดูจะมี “มิติ” มากขึ้นตามไปด้วย สำหรับคนในครอบครัวโต๊ะมีนาเองนั้นมีข้อมูลอยู่แล้วว่าฮัจยีสุหลงทำอะไรอีกหลายอย่างที่คนทั่วไปยังมองไม่เห็น หรือแม้แต่คนที่ติดตามเรื่องของฮัจยีสุหลงเองหลายคนอาจไม่เคยได้ยินว่าเขามีความรู้ทั้งในเรื่องธุรกิจและการแพทย์บางด้าน

“ฮัจยีสุหลงเป็นปราชญ์ของท้องถิ่นนี้ ไม่ใช่เป็นเฉพาะนักการศาสนา แต่เป็นทั้งนักธุรกิจ เพราะเป็นคนแรกๆ ที่ค้าขายเกลือโดยส่งไปที่มาเลเซีย ไปถึงมะละกา ตรังกานู เป็นหมอรักษากระดูก จนได้รับคำรับรองจากโรงพยาบาลปัตตานีในสมัยนั้นเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว เป็นนักดาราศาสตร์ แล้วก็เป็นอีกหลายอย่าง และเป็นนักการเมืองด้วย หลายท่านนิยามให้ฮัจยีสุหลงเป็นปราชญ์ในท้องถิ่นในยุคนั้น ถือว่าเป็นนักคิดคนหนึ่ง” 

จาตุรนต์บอกว่า ในช่วงของปรับปรุงบ้านของฮัจยีสุหลงครั้งใหญ่นั้น ครอบครัวได้รื้อค้นของเก่าๆ ที่ไม่เคยเปิดออกมาเลยนับตั้งแต่ปิดบ้านไป ภายใต้สภาพการเก็บอย่างไม่ตั้งใจกลับพบว่ามีเอกสารจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เสียหายมากนัก แต่ด้วยภาษาที่เก่าก็จำเป็นต้องมีผู้รู้มาช่วยอ่านและต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าเท่าที่เห็นในขณะนี้ เอกสารหลายชิ้นบ่งบอกเรื่องราวของการติดต่อสื่อสารกับผู้คนที่หลากหลาย รวมไปถึงเรื่องของการทำธุรกิจ มันยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ฮัจยีสุหลงมีความสนใจในเรื่องราวแตกต่างหลายอย่างและเขาสนับสนุนให่้คนในพื้นที่นั้นปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกอย่างมาก 

วันนี้ครอบครัวโต๊ะมีนาเปิดบ้านฮัจยีสุหลงให้สาธารณะเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ได้ ทุกวันที่ 13 ส.ค. มีการจัดงานรำลึกครบรอบวันหายตัวของฮัจยีสุหลงซึ่งครอบครัวทำมา 4 ปีแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่จะพูดถึงฮัจยีสุหลง เติมมิติบางอย่างที่ยังตกหล่นหายไปให้กับเรื่องราวนี้ได้อย่างเปิดเผย เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่สามจังหวัดภาคใต้