เมื่อวันที่ 17.00 น. ตำรวจ สน.ลุมพินีมีจดหมายขอให้สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT ยกเลิกการจัดเสวนาหัวข้อ “นายพลเมียนมาจะถูกนำตัวเข้าสู่ระบบยุติธรรมจากการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศหรือไม่” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเวลา 19.00 น. วันนี้ (10 ก.ย.) โดยอ้างว่า เสวนาดังกล่าวจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แม้จะมีหนังสือขอความร่วมมือ แต่สมาคมยืนยันว่าจะจัดงานเสวนาต่อ อย่างไรก็ตาม นายโดมินิก โฟลเดอร์ ประธาน FCCT เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ก่อนงานเสวนาจะเริ่มไม่นาน ตำรวจประมาณ 20 นายได้บุกเข้าไปที่สมาคมพร้อมจดหมายแจ้งให้งดจัดงานเสวนาดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีความพยายามขอรายชื่อผู้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ด้วย แต่ไม่สำเร็จ
งานเสวนานี้มีขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา ทีมค้นหาความจริงของสหประชาชาติเขียนรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่น และรัฐฉานของ้เมียนมา พร้อมกับที่เฟซบุ๊กประกาศว่าได้ระงับบัญชีเฟซบุ๊ก 20 บัญชี รวมถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา โดยใ้ห้เหตุผลว่าทำไปเพื่อป้องกันการเผยแพร่ความเกลียดชังหรือข้อมูลที่ผิดๆ
ด้านกองทัพเมียนมาได้ออกมาปฏิเสธว่ารายงานของทีมค้นหาความจริงของยูเอ็นไม่เป็นความจริง พร้อมระบุว่า ทางการเมียนมาได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสืบสวนเรื่องนี้ เพื่อตอบโต้ "ข้อกล่าวหาผิดๆ ของยูเอ็นและนานาชาติ"
งานเสวนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อหารือว่าระบบยุติธรรมระหว่างประเทศจะดำเนินต่อไปอย่างไร เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เมื่อเมียนมาไม่ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ทุนคิน ประธานองค์กรโรฮิงญาพม่าในอังกฤษที่เกิดและเติบโตในรัฐยะไข่หรืออาระกัน นายกอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตทูตและ ส.ส. ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะที่ปรึกษานานาชาติว่าด้วยโรฮิงญาในเมียนมา ซึ่งแต่งตั้งโดยนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา และนายคิงส์ลีย์ แอ็บบอตต์ ที่ปรึกษาอาวุโสของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)
ก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. อู วิน มยิน ประธานาธิบดีเมียนมาเพิ่งเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหารือกันว่าทั้งสองประเทศจะร่วมกันจัดงานฉลองครบรอบ 70 ปีที่ 2 ประเทศสานความสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงหารือการส่งเสริมและดูแลแรงงานเมียนมาในประเทศไทย สะท้อนความร่วมมือและสายสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ
ส่วนเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ก็ได้ตอบรับคำเชิญจากพลอากาศเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพไทย ให้เดินทางเยือนไทยเพื่อทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรี อันเป็นสัญลักษณ์การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบทวิภาคีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ และได้เข้าพบพลเอกเปรม ติณณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: