ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บังคับการกองปราบปราบ เตรียมออกหมายจับคดีหลอกลงทุนเงินดิจิทัล เชื่อมโยง 'ตระกูลจารวิจิตร' เพิ่ม 5-6 ราย ยืนยันคดีไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนส่งศาลขออำนาจฝากขัง ค้านประกันตัว 'บูม-จิรัชพิสิษฐ์'

จากกรณีตำรวจกองปราบปราม จับกุมตัวนายจิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือ บูม นักแสดงจากซีรี่ย์ความรักครั้งสุดท้าย ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน หลังมีผู้เสียหายชาวต่างชาติเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ระบุถูกนายบูมและครอบครัว หลอกลงทุนสกุลเงินดิจิตอล ทำให้เสียหาย 797 ล้านบาท

อีกทั้ง ศาลได้ออกหมายจับนายปริญญา จารวิจิต และ นางสาวสุพิชย์ฌา จารวิจิต พี่ชายและพี่สาวของนายบูม ในข้อหาเดียวกันด้วย

ขณะที่ ที่กองปราบปราม มีกลุ่มเพื่อนสนิทของ นายบูมเดินทางมาเยี่ยมและพูดคุยอยู่บริเวณหน้าห้องขังกองปราบปราม ก่อนที่จะเดินทางกลับเมื่อสื่อมวลชนเริ่มทยอยเดินทางมาเฝ้าติดตามความคืบหน้าในคดี จากนั้นพนักงานสอบสวนได้คุมตัวนายบูม ไปขออำนาจศาลอาญารัชดาฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีมูลค่าความเสียหายสูง เกรงจะหลบหนี  

'พี่สาวบูม' ติดต่อขอมอบตัว-ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณเข้าพบตำรวจ ยืนยันความบริสุทธิ์

ด้านพลตำรวจตรีไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการกองปราบปราม ระบุว่า นางสาวสุพิชย์ฌา ได้ประสานผ่านคนกลางมาเพื่อขอเข้ามอบตัว หลังเป็นข่าวในสื่อ แต่ไม่ระบุวันเวลาและสถานที่มอบตัว โดยยังไม่พบการเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้เตรียมออกหมายจับเพิ่มอีกประมาณ 5-6 คน ที่รับเงินจากการฉ้อโกงเข้าหมุนเวียนในบัญชี

ขณะที่ พันตำรวจเอกชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม ยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกรรมหรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่เป็นลักษณะแอบอ้างว่าบริษัทตัวเองอยู่ในเครือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

ส่วนที่นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ บุคคลที่มีชื่อเสียงในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้เดินทางมาเข้าพบตำรวจเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ผ่านมา เป็นการเข้าชี้แจงเรื่องราวที่ถูกกล่าวอ้าง โดยเจ้าตัวระบุว่า ตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้เช่นเดียวกัน แต่จากการสืบสวน รวบรวมหลักฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจพบข้อมูลที่เชื่อได้ว่านายประสิทธิ์ อาจจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบบริษัททั้ง 3 แห่งที่กลุ่มผู้ต้องหาหลอกให้ผู้เสียหายซื้อหุ้นร่วมลงทุน ซึ่งมีการเปิดทั้งในประเทศไทยและที่ฮ่องกง นั้นพบว่านายปริญญา จารวิจิต พี่ชายของนายบูม ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวจริง อีกทั้งจากการตรวจสอบทะเบียนการค้าทั้งสามบริษัท ยังพบว่ามีคนในตระกูลจารวิจิตร เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และบางบริษัทที่มีการแอบอ้างกับผู้เสียหายนั้นไม่มีตัวตนจริง และยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายดังกล่าวอีกหลายบริษัท ซึ่งตำรวจกองปราบปรามอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นายปริญญา เคยมีประวัติถูกออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ ในพื้นที่ สน.วัดพระยาไกร อีกด้วย

หลอกลงทุนเหรียญดิจิทัล แต่นำเงินไปใช้ในซื้อหุ้น-ที่ดิน-หมุนเวียนในครอบครัว

สำหรับพฤติการณ์ของขบวนการนี้ ร่วมกันหลอกลวง นักลงทุนชาวต่างชาติชื่อนายอาร์นี ออตตาวา ซาอ์ริมาอ์ ชาวฟินแลนด์ ให้ร่วมลงทุนเหรียญ Dragon Coin หรือ DRG ให้มาลงทุนในประเทศไทยโดยนำเหรียญดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นอีกหนึ่งสกุลเพื่อลงทุนต่อไปยังตลาดหลักทรัพย์และนำไปใช้ใน บ่อนการพนันที่มาเก๊า โดยไม่มีการนำเงินไปลงทุนอย่างที่กล่าวอ้าง แต่นำเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนใช้จ่ายภายในครอบครัว และใช้เงินซื้อที่ดิน ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่อายัดเงินได้แล้วกว่า 200 ล้านบาท  จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีบัญชีที่เกี่ยวข้องกว่า 40 บัญชี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :