จากกรณีสื่อหลักและสื่อโซเชียล รวมทั้งนักวิชาการแสดงข้อกังวลต่อสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาวะอากาศยังมีฝนตกทั่วประเทศนั้น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ จำนวน 35 แห่ง (เป็นของกรมชลประทาน 25 แห่ง และของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 10 แห่ง) มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 48,908 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 69 ของความจุอ่างรวมกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 412 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 3,183 ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรน้ำทั้งหมดทั้งอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกันประมาณ 52,019 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 23,900 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการควบคุมการเก็บกัก การระบายภายใต้ โค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำ หรือเกณฑ์เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ซึ่งในการควบคุมปริมาตรน้ำจะใช้เส้นบนของโค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำเป็นตัวควบคุม ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำบางแห่งมีปริมาตรน้ำเกินกว่าเส้นควบคุม กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยการระบายน้ำผ่านระบบชลประทาน ผ่านอาคารระบายน้ำ ลงสู่ลำน้ำเดิม (River outlet) และใช้วิธีการกาลักน้ำเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการระบายน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจะพิจารณาแจ้งข้อมูลไปทางหน่วยงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์และเตรียมการขนย้ายสิ่งของตลอดจนมาตรการให้การช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป
ด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน (Dam Safety) ของกรมชลประทานมีแผนการตรวจสอบติดตามเพื่อให้เขื่อนและอาคารประกอบมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ดำเนินการก่อสร้าง ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จ กรมฯมีแผนการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยการตรวจสภาพเขื่อนด้วยสายตา (ขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก) หาสิ่งผิดปกติ เช่น การกัดเซาะ การรั่วซึม การทรุดตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนสำหรับตรวจสอบติดตามพฤติกรรมเขื่อน (ขนาดใหญ่และขนาดกลาง) เช่น การไหลซึมผ่านตัวเขื่อน ฐานรากเขื่อน เป็นต้น
ทั้งนี้จากการดำเนินการตรวจสภาพเขื่อนด้วยสายตาและการตรวจสอบติดตามพฤติกรรมจากเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน นำมาประเมินความมั่นคงตัวเขื่อน โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ 30 วัน และในกรณีวิกฤตจะทำการตรวจสอบทันที ทุก 24 ชั่วโมง ตามมาตรฐานความปลอดภัยเขื่อน เพื่อให้เขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ