นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ผลการจัดสรรน้ำหลังสิ้นสุดฤดูแล้ง(ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 - 30 เมษายน 2562) พบว่าการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้จะมีการใช้น้ำเกินแผนไปบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งจะอยู่ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ เดิมกรมชลประทานจัดสรรน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งทั้งสิ้นประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.ม. เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งเดือน เม.ย. 62 ปรากฎว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 9,000 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเกินกว่าแผนที่วางไว้ไม่มากนัก ซึ่งต้องขอขอบคุณเกษตรกรที่ให้ความร่วมมืองดทำนาปรังต่อเนื่อง(นารอบที่ 3) ทำให้การบริหารจัดการน้ำใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ และยังมีน้ำคงเหลือที่จะใช้ได้ต่อเนื่องในช่วงต้นฤดูฝนอีกกว่า 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งรวมไปถึงการใช้น้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมด้วย
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือฤดูฝนในปี 2562 นั้น กรมชลประทานได้ปรับเกณฑ์ปฏิบัติการ- อ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 437 แห่งทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกณฑ์ Rule Curve ที่ปรับใหม่ดังกล่าวจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการปรับตามข้อมูลสถิติ เงื่อนไขการใช้น้ำ และขีดความสามารถการรับน้ำของลำน้ำด้านท้ายแล้ว พร้อมกำหนดให้มีเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำอ้างอิงแบบระยะยาว และเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบระยะสั้นของแต่ละปี ตามการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ สามารถรับน้ำในช่วงฤดูฝนรวมกันได้มากกว่า 35,000 ล้าน ลบ.ม. จึงสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากในช่วงฤดูฝนได้อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยหรือต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ซึ่งจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบครอบ เพื่อให้เพียงพอจนกว่าจะเข้าฤดูฝนปกติ โดยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ-ขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำลำพระ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 149 แห่ง ทั่วประเทศ ที่มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 30 หากมีฝนตกลงมาอ่างเก็บน้ำเหล่านี้จะรองรับปริมาณน้ำรวมกันได้มากพอควรเช่นกัน" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องของแก้มลิงมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยได้นำมาใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งยังทำให้เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้เร็วขึ้น ผลผลิตไม่เสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วใน 2 พื้นที่ พื้นที่แรกคือ ทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่นำร่อง โดยได้บูรณการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ปีนี้เป็นปีที่ 3
สำหรับโครงการบางระกำโมเดล เป็นการปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่รวมประมาณ 265,000 ไร่ ซึ่งต่อมาได้ขยายพื้นที่เป็น 382,000 ไร่ ให้สามารถเพาะปลูกข้าวนาปี และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากจะมา จากนั้นจะใช้ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว เป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากแม่น้ำยม ช่วยตัดยอดปริมาณน้ำส่วนเกินได้มากกว่า 550 ล้าน ลบ.ม. ทำให้น้ำไม่เอ่อท่วมเขตชุมชนและสถานที่ราชการจังหวัดสุโขทัย และยังหน่วงน้ำเพื่อรอการระบายไม่ให้ส่งผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากพ้นฤดูน้ำหลากก็จะระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ ให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปรัง (นารอบที่ 2)ต่อไป
อีกพื้นที่หนึ่งที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เป็นการขยายผลจากโครงการบางระกำโมเดล ก็คือ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่รวมทั้งหมด 12 ทุ่งด้วยกัน ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ,ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ,ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ,ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ จ.ปทุมธานี รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.15 ล้านไร่ สามารถรองรับน้ำหลากได้รวมกันกว่า 1,500 ล้าน ลบ.ม. โดยจะให้เกษตรกรเริ่มการเพาะปลูกได้ในเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ก่อนที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากเช่นเดียวกับทุ่งบางระกำ ซึ่งจะนำน้ำเข้าทุ่งในช่วงปลายเดือนกันยายน และเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งประมาณวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อรวมปริมาณน้ำที่ทุ่งบางระกำ และ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว จะทำให้สามารถรองรับน้ำหลากได้มากกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่าๆกับปริมาณความจุของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รวมกัน
ล่าสุดกรมชลประทาน ได้วางแนวทางขยายผลจากโครงการบางระกำโมเดลไปใช้ในทุ่งบางพลวง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องถึงแม่น้ำบางปะกง เนื้อที่ประมาณ 499,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทราบางส่วน ด้วยการวางแนวทางดำเนิน "โครงการบริหารจัดการน้ำทุ่งบางพลวง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย" หรือ "บางพลวงโมเดล" ซึ่งจะมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชใหม่ จากเดิมเพาะปลูกประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ปรับเป็นเริ่มเตรียมแปลงภายในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนฤดูน้ำหลากจะมา จากนั้นก็จะใช้เป็นทุ่งรับน้ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ยังทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้โดยไม่ได้รับความเสียหาย และลดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชมรอบๆทุ่งบางพลวงได้อีกด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงฤดูฝนปีหน้า(2563)
อธิบดีกรมชลประทานยังได้กล่าวด้วยว่า นอกจากการปรับเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ การวางแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ กรมชลประทานยังได้จัดทำฐานข้อมูลและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พร้อมกำหนดสถานีหลักKey Station) เพื่อการบริหารจัดการน้ำและเฝ้าระวัง รวมทั้งได้ทำการขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะผักตบชวาและวัชพืช ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ ที่สามารถออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนทุกพื้นที่ได้ตลอดเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :