ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงกรณีประชาชนร้องเรียนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เทศบาลนครหาดใหญ่ ก่อปัญหามลพิษทั้งฝุ่นควันและกลิ่นเหม็น ยืนยันติดตามผลการแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง โดยผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องล่าสุด (2561) พบว่าทุกจุดตรวจวัดมีค่าคุณภาพอากาศทุกดัชนีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เรื่อง โรงไฟฟ้าพลังงานขยะต้นแบบ ที่เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ร่วมกับ บมจ.อินเตอร์แนชั่นแนลเอนจีเนียริง (IEC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กฟผ.ดำเนินการ ได้ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยถูกประชาชนร้องเรียนปัญหามลพิษ ทั้งฝุ่นควันและกลิ่นเหม็นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ 

กรมควบคุมมลพิษได้ชี้แจงว่า โรงงานไฟฟ้าขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ ลงทุนก่อสร้างและเดินระบบโดยบริษัท จีเดค จำกัด โดยเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ทำสัญญากับบริษัท จีเดค จำกัด เมื่อปี 2553 ให้เป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและบริหารจัดการเป็นเวลา 25 ปี ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนรัฐบาล คสช. และได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2557 ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นโครงการเตาเผาขยะมูลฝอยที่สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้ 300 ตันต่อวัน และเปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7 เมกะวัตต์-ชั่วโมง 

โดยในปี 2559 กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยโดยเตาเผาของเทศบาลนครหาดใหญ่ ภายหลังโรงไฟฟ้าได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว 2 ปี เนื่องจากเตาเผาขยะมูลฝอย เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บ้านสวนอิสระ พบว่า สารมลพิษอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป และตรวจวัดมลพิษที่ระบายออกจากปล่องเตาเผามูลฝอย จำนวน 2 ครั้ง พบว่า ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย

006.jpg

โดยพบว่ามีปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.074 และ 0.006 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานฯ = 0.05 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ค่าสารประกอบไดออกซิน เท่ากับ 5.11 และ 15.20 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานฯ = 0.1 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ เท่ากับ 401 และ 24.83 ส่วนในล้านส่วน (ppm) (ค่ามาตรฐานฯ = 25 ppm) และปริมาณตะกั่วในเถ้าเบา มีค่าเกินค่ามาตรฐานตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ถือว่าเป็นของเสียอันตราย ซึ่งบริษัท จีเดค จำกัด ได้ชี้แจงสาเหตุว่าพบการชำรุดของกระเดื่องพ่นสารเคมีของระบบบำบัดอากาศเสีย จึงทำให้ผลการตรวจสอบอากาศเสียจากปล่องมีค่าเกินมาตรฐาน กรมควบคุมมลพิษจึงได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา และเทศบาลนครหาดใหญ่ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

และเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท จีเดค จำกัด หยุดประกอบกิจการในส่วนเตาเผาขยะทันทีเพื่อปรับปรุงระบบขจัดมลพิษของเตาเผาขยะของโรงงานให้มีประสิทธิภาพเพียงพออยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

กรมควบคุมมลพิษ ระบุด้วยว่า โครงการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนโดยเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่มีการจัดทำรายงานการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย (Environmental Safety Assessment หรือ ESA) ตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด และในรายงานดังกล่าว กำหนดให้บริษัท จีเดค จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป และตรวจวัดสารมลพิษ ได้แก่ ฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ สารประกอบไดออกซิน และค่าความทึบแสง ที่ระบายออกจากปล่อง ปีละ 2 ครั้ง กรมควบคุมมลพิษ จึงมีหนังสือถึงจังหวัดสงขลา เพื่อให้แจ้งบริษัท จีเดค จำกัด ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรายงานการศึกษาฯ ESA ดังกล่าว และขอให้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลการดำเนินการของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรายงานการศึกษาอย่างถูกต้องครบถ้วน และต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานงานและติดตามผลการดำเนินการร่วมกับจังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท จีเดค จำกัด ได้แสดงผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่อง จำนวน 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 – 13 มี.ค. 2561) พบว่า ทุกดัชนีมีค่าเป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย โดยพบปริมาณสารประกอบไดออกซิน ครั้งที่ 1 เท่ากับ 0.070 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และครั้งที่ 2 เท่ากับ 0.0947 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานฯ = 0.1 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)และผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 – 27 ธ.ค. 2560 จำนวน 3 จุด ได้แก่ (1.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ (2.) หมู่บ้าน Airport และ (3.) หมู่บ้านอิงกมล ปรากฏว่า ทุกจุดตรวจวัดมีค่าคุณภาพอากาศทุกดัชนีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 

และเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความต่อเนื่องและยั่งยืน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 กรมควบคุมมลพิษ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจังหวัดสงขลา กำกับ ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัท จีเดค จำกัด ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อชุมชนตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง เพื่อมิให้ก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นรบกวน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

สำหรับมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนสำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 50 แห่ง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรมควบคุมมลพิษเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต ดำเนินการกำหนดให้การควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย เป็นเงื่อนไขในการอนุญาต และการต่อใบอนุญาต

นอกจากนี้ ยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับ สอดส่อง ติดตามให้เป็นไปตามเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตลอดจนให้เปิดเผยข้อเท็จจริงผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป