ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษ ตั้งเป้าภายในปี 2562 จะไม่มีการใช้แคปซีลในขวดน้ำดื่มทั่วประเทศ ช่วยลดปริมาณขยะ 2,600 ล้านชิ้นต่อปี

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าว 1 เมษายนนี้ บริษัทน้ำดื่ม 5 รายใหญ่ ประกอบด้วย 1. บริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มสิงห์ 2. บริษัทเสริมสุข จำกัด มหาชน (จำกัด) ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล 3. บริษัทไทยดริ้งค์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มช้าง 4. บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ และ 5. บริษัท คาราบาวกรุ๊ฟ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำดื่มคาราบาว เลิกใช้แคปซีล หรือพลาสติกหุ้มฝาขวด พร้อมขยายผลการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการเลิกใช้แคปซีล (No Plastic Cap Seal) ไปยังบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายย่อยอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มไปยังกระทรวงต่างๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษตั้งเป้าว่าภายในปี 2562 ประเทศไทยจะไม่มีการใช้แคปซีลในขวดน้ำดื่มทั่วประเทศ ซึ่งจะลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือ 520 ตันต่อปี

สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประเทศไทยในอนาคตนั้น กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ สถานประกอบการที่จัดหาน้ำ เพื่อทำน้ำให้บริสุทธิ์หรือจำหน่วยน้ำไปยังอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรม เฉพาะที่ใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตและระบายน้ำทิ้งลงสู่ทะเล กำหนดความเร็วของน้ำในบริเวณที่สูบเพื่อผลิตจะต้องไม่เกิน 0.1 เมตรต่อวินาที ปริมาตรในการสูบน้ำต้องไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพของบริเวณชายฝั่ง

และกำหนดให้ตำแหน่งที่สูบน้ำจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า 9.5 มิลลิเมตร เข้าสู่ระบบ และกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยจะมีวิธีการเลือกเจือจางน้ำทิ้ง การจัดการน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลให้ใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีการระบายน้ำทิ้งด้วยท่อลอดลงสู่ทะเล กำหนดให้มีพื้นที่ผสมน้ำ รอบจุดระบายน้ำทิ้งเป็นรัศมี 100 เมตร ในทุกทิศทาง ไม่เป็นจุดอับน้ำและมีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ และไม่ให้นำกากตะกอนหรือน้ำล้างย้อมมาระบายร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินที่สำคัญทั่วประเทศช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 พบภาพรวมแหล่งน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปี 2559 และปี 2560 สามารถใช้น้ำเล่นน้ำและลงเล่นน้ำได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าสู่ร่างการโดยตรง

โดยหลักการสังเกตสภาพน้ำและบริเวณโดยรอบแหล่งน้ำเบื้องต้นควรเป็นน้ำที่สะอาดไม่มีสิ่งแปลกปลอมหรือปนเปื้อนมากับน้ำ การเล่นน้ำไม่ควรใช้น้ำสกปรกในการเล่นน้ำ เป็นต้น โอกาสนี้ กรมควบคุมมลพิษ ยังเดินหน้าติดตามตรวจสอบแหล่งน้ำ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำจืดและแหล่งน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท่องเที่ยวต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง