ไม่พบผลการค้นหา
บทความของนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยปัจจัยหลายประการที่บ่งชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมพร้อมจะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปแม้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยไม่ได้เริ่มต้นใหม่อย่างที่ใครหลายคนคาดหวัง

เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองและความมั่นคง สำนักเลขาธิการอาเซียน และนักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูซอฟ อิสฮะก์ แห่งประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่บทความชื่อ General Prayut’s dream of remaining PM dampens Thailand’s hopes of starting afresh ในเว็บไซต์สำนักข่าว 'แชนแนลนิวส์เอเชีย' (CNA) วันนี้ (22 พ.ย. 2561) โดยมีการแจกแจงปัจจัยต่างๆ ทางการเมืองที่บ่งชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หวังที่จะอยู่ในอำนาจทางการเมืองของไทยต่อไป พร้อมระบุว่าความหวังที่แวดวงการเมืองไทยจะได้เริ่มต้นใหม่ส่อเค้าว่าอาจจะไม่มีทางเกิดขึ้น

ปัจจัยแรก ที่บทความบ่งชี้ ได้แก่ เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งออกแบบและผลักดันโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ พลเรือนเพียงคนเดียวใน คสช.ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557 โดยนายมีชัยถูกยกย่องว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว ระบุว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือน ก.พ.2562 ต้องปฏิบัติตามกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วางเอาไว้

เนื้อหาในบทความบ่งชี้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีทุนหนาชนะการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก โดยสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองใหม่จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 83 พรรค ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 40 พรรคการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งในปี 2554  

นอกจากนี้ กติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดเล็กนำคะแนนรวมทั้งประเทศที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมาคำนวณกับ สส.บัญชีรายชื่อ ก็สามารถมีที่นั่งในสภาได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ถึง 3 รายชื่อ และหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากมีสิทธิเสนอรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก ซึ่งในกรณีของ สว.จะรวมถึง ผู้ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. รวม 250 ที่นั่ง

ประยุทธ์

ปัจจัยที่ 2 ได้แก่ พรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรคประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้รั้งตำแหน่งนายกฯ ต่อไปหลังเลือกตั้ง โดยพรรคแรก คือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.เข้าร่วมกับพรรคนี้ถึง 4 คน ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค

ส่วนอีกพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งร่วมก่อตั้งโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยฯ (กปปส.) ซึ่งรวมตัวกันประท้วงต่อเนื่องเพื่อขับไล่รัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 จนนำไปสู่การรัฐประหาร และสองพรรคการเมืองนี้ต้องชนะเลือกตั้งรวมกันเพียง 125 ที่นั่ง เพื่อไปรวมกับเสียงของ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 ที่นั่ง รวมเป็น 375 ที่นั่ง ก็ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในรัฐบาลชุดใหม่ได้อย่างมั่นคง

ปัจจัยที่ 3 คือ ความอ่อนแอของพรรคเพื่อไทย ซึ่งแกนนำระดับสูงของพรรคแยกตัวไปอยู่พรรคอื่นๆ ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบ เพราะถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้อดีตนายกฯ ทักษิณแทรกแซงพรรค เห็นได้จากการชูคำขวัญ 'ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ' ทั้งยังมีสมาชิกอีก 4 รายที่อยู่ระหว่างการสู้คีดในชั้นศาล แม้จะมีการตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งคาดว่านายพานทองแท้ ชินวัตร อาจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย แต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นพรรคที่รวมกลุ่มคนหน้าใหม่มากกว่านักการเมืองรุ่นเก่าที่มากประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวระบุว่า แม้จะมีปัจจัยหนุนส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลประยุทธ์ในอนาคตอาจจะต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองในระบบรัฐสภา รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่นเดียวกับที่ไม่อาจไว้วางใจได้ว่ารัฐบาลชุดหน้าจะควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่า พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน จะมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ คสช.ก็ตาม แต่ความผันผวนทางการเมืองอาจเกิดขึ้นได้ และสิ่งที่ประชาชนไทยพอจะทำได้ก็คือเตรียมพร้อมที่จะรับมือทั้งกับสถานการณ์ที่ดีและสถานการณ์ที่เลวร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: