‘ตู้ ลี่เหนียง’ คือสตรีรูปงามผู้เฝ้าฝันถึงความรักกับชายหนุ่มตามบทกวี แต่ไม่เคยแม้แต่จะก้าวออกไปไกลกว่าสวนดอกไม้หลังบ้าน ด้วยระเบียบเคร่งครัดของสังคมศักดินา
‘จู้ อิงไถ’ เป็นหญิงงามที่ปลอมตัวเป็นเพศตรงข้ามเพื่อไปหาความรู้ และพบรักกับชายหนุ่ม แต่ทั้งคู่กลับถูกกีดกัน จนจบชีวิตและกลายเป็นผีเสื้อ
เรื่องราวของสองตัวละครหญิงในวรรณกรรมดังของจีนทั้ง ‘เก๋งโบตั๋น’ และ ‘ม่านประเพณี’ ที่ถูกนำไปสร้างเป็นงิ้วและละครหลายครั้ง ได้รับการดัดแปลงโดยคณะ M.O.V.E. Theatre จากไต้หวันเป็นการแสดงแนวทดลองที่ใช้ชื่อว่า ‘ขวงฉี: ฝันนี้มีเธอ (Kuang Qi)’ โดยนำ ‘ตู้ ลี่เหนียง’ และ ‘จู้ อิงไถ’ มาพบกันเป็นครั้งแรกในดินแดนแห่งความฝัน ซึ่งทำให้ทั้งคู่ได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริง และปลดปล่อยตัวเองจากกรอบสังคม
ประเด็นร่วมสมัยอย่างความรักที่ไม่จำกัดสิทธิ รวมถึงความลื่นไหลทางเพศ ถูกถ่ายทอดผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายและท่วงทำนองดนตรีงิ้วโบราณคุนฉวี่ (Kunqu) ซึ่งเป็นที่นิยมในเซียงไฮ้ ผสมผสานกับดนตรีตะวันตก สร้างสรรค์โดยผู้กำกับดนตรี หลิน เกวย-หรู (Lin Kuei-ju)
M.O.V.E. Theatre ก่อตั้งในปี 2549 โดยมักนำเสนอการแสดงแนวฟิสิคัลเธียเตอร์ที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย โดย ‘ขวงฉี: ฝันนี้มีเธอ’ ถือเป็นการแสดง ‘มิวสิก เธียเตอร์’ ครั้งแรกของคณะ ซึ่งเปิดการแสดงครั้งแรกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะนำมาเปิดแสดงนอกประเทศครั้งแรกที่ไทย
หลิน เกวย-หรู เล่าว่า ตอนที่พัฒนาเรื่องร่วมกับผู้กำกับศิลป์ ฝู หงเจิง (Fu Hon-zheng) ต้องการจะทดลองใช้เครื่องดนตรีเพอร์คัชชันผสานกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งเข้ากับแก่นเรื่องที่พูดถึงการตระหนักรู้ในตัวตนของตัวละครได้เป็นอย่างดี โดยการแสดงนี้ใช้นักดนตรีเพียงสามคน แบ่งเป็นเครื่องดนตรีตะวันตกสองคน และนักดนตรีดนตรีงิ้วหนึ่งคน ซึ่งการใช้โน้ตเพลงที่แตกต่างกันในแต่ละส่วนอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานบ้าง แต่ก็สะท้อนการผสมผสานความหลากหลายในโปรดักชันนี้ได้เป็นอย่างดี
ไต้หวันถือเป็นประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพไม่น้อย โดยไม่จำกัดเฉพาะในแวดวงศิลปะการแสดง ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาไต้หวันได้วินิจฉัยว่า กฎหมายห้ามคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันนั้นละเมิดสิทธิและความเสมอภาคของประชาชน พร้อมผลักดันให้มีการรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันภายในสองปี ซึ่งหลิน เกวย-หรู มองว่า ศิลปินไต้หวันหลายคนนำเสนอประเด็น LGBT ในงานอยู่แล้ว และยังสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเธอหวังว่าจะมีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันในแง่มุมอื่น ๆ ต่อไป เพราะการสร้างสรรค์ศิลปะถือเป็นการสะท้อนและบันทึกยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
‘ขวงฉี’ จัดแสดงที่เทศกาล Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลละครกรุงเทพ ผู้ที่สนใจสามารถชม ‘ขวงฉี’ ได้ในวันนี้ (16 พ.ย.) เวลา 19.30 น. โดยวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนจะมีรอบ 14.00 น. และ 20.00 น.
บัตรราคา 600 บาท และ 300 บาทสำหรับนักเรียน นักศึกษา สำหรับผู้ที่อายุไม่เกิน 27 ปี 400 บาท
ภาพด้านบนจาก: Chingju Cheng