นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2561 ว่า มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 4.2% โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ. จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 และปี 2560 ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้มากขึ้น ภายในปี 2561 นี้
อีกด้านหนึ่ง พบว่า สัญญาณเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น แม้จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 90 วัน ก็ถือว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแต่อย่างใด
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 4% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.2% อย่างไรก็ตาม ต้องรอการประกาศตัวเลขจีดีพีปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์
ขณะเดียวกัน สศค. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาขยายตัวได้สูงกว่าที่ประมาณการเมื่อครั้งก่อนหน้า เป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชัดเจน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้าและในเกือบทุกตลาดส่งออก ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยในปี 2560 ที่มีจำนวนสูงถึง 35.4 ล้านคน
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งผลดีจาก มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตามความชัดเจนของการดำเนินโยบายภาครัฐ รวมถึงแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีอยู่ต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น
ด้าน นายวิม รุ่งวัฒนจินดา คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากกรณีการยืดเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า การเลื่อนเวลาและการปรับโรดแมปการเลือกตั้งของรัฐบาล คสช. เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากต่างชาติ ตลอดเวลา เกือบ 4 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ขณะที่ประเทศต่างๆในอาเซียนมีอัตราการขยายตัวในระดับสูง
"เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ สนช. มีมติยึดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปอีกอย่างน้อย 90 วัน ทำให้นักลงทุนและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงอย่างน่าตกใจ ถือเป็นการซ้ำเติมประเทศให้ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ต่อไปอีก รวมทั้งประเทศจะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆอีกมากมาย แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ไทยแลนด์ 4.0 ก็ตาม ก็คงไม่สามารถพัฒนาอะไรได้เพราะนโยบายกับการปฏิบัติไม่ไปในทิศทางเดียวกัน"
อย่างไรตาม แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะพยายามดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจในระดับฐานราก เช่นการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การปล่อยสินเชื่อภาคประชาชน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือน แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นมากนัก จึงทำให้อัตราการขยายตัวไม่เพิ่มขึ้น