อย่างไรก็ดี ข้อความดังกล่าวของเธอถูกเชื่อมโยงว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ เรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานธิบดีของตุรกี ที่ปกครองประเทศในระบอบอำนาจนิยม ผลลัพธ์จากการทวีตข้อความดังกล่าวของคาบาส์ ทำให้เธอถูกควบคุมตัวในวันต่อมา (23 ม.ค.) และเธอกำลังเผชิญหน้าอยู่กับข้อกล่าวหาที่อาจทำให้เธอถูกศาลตุรกีสั่งจำคุกได้
คาบาส์เป็นผู้สื่อข่าวหญิงของตุรกี ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตุรกีมาโดยตลอด ทั้งบนช่องทางโทรทัศน์และทวีตเตอร์ส่วนตัวของเธอ ทั้งนี้ การจับกุมตัวคาบาส์เกิดขึ้นในช่วงเวลา 02.00 น. กลางดึกของวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่อาจช่วยให้รัฐบาลเผด็จการเปลี่ยนการตัดสินใจได้ เพราะเมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) เออร์โดกันได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับทางสื่อช่อง NTV ของตุรกีว่า คาบาส์จะไม่ได้รับ “การละเว้นจากการลงโทษ” โดยเออร์โดกันย้ำว่าการจับกุมคาบาส์นั้น “เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องพิทักษ์การให้ความเคารพถึงการปฏิบัติงานในการเป็นประธานาธิบดี”
เออร์โดกันย้ำว่า คดีดังกล่าว “ไม่เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพทางคำพูด” นอกจากนี้ เออร์โดกันยังได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายค้านของตุรกี ที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายการลงโทษการวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีลง อย่างไรก็ดี คาบาส์กำลังเผชิญกับคดีดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เธอถูกศาลสั่งจำคุกในอัตราโทษ 1 ถึง 4 ปีในเรือนจำ
สหภาพผู้สื่อข่าวของตุรกีได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลว่า การจับกุมตัวคาบาส์ในครั้งนี้ “เป็นการคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก” ทั้งนี้ นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวหลายรายในตุรกีถูกควบคุมตัวจำนวนมาก จากการวิจารณ์ประธานาธิบดีและรัฐบาลของตุรกี โดยเฉพาะตั้งแต่ความพยายามในการทำรัฐประหารต่อเออร์โดกันที่ล้มเหลวลงในปี 2559 ทำให้เออร์โดกันรวบอำนาจเข้ามายังตนมากขึ้นกว่าเดิม
ที่มา: