ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศจับตาสถานการณ์การเมืองไทยวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร 57 - รองผบ.ตร. ประกาศห้ามผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวน-ห้ามนักข่าวรวมปะปนกับผู้ชุมนุม ด้านสมาคมสื่อแถลงโต้กรณีบังคับนักข่าวสวมปลอกแขน บช.น. อาจทำสับสน แนะใช้บัตรประจำตัวต้นสังกัด-บัตรกรมประชาสัมพันธ์แทน

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอพี รายงานว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยอยู่ในภาวะอ่อนล้า เพราะใกล้จะถึงวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกดดันให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และในวันพรุ่งนี้มีการนัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง

รอยเตอร์รายงานว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 3,000 นาย ตรึงกำลังรอบพื้นที่จัดการชุมนุม พร้อมประกาศห้ามผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกนอกพื้นที่ที่ขออนุญาต รวมถึงห้ามเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยใช้จะบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีอย่างจริงจัง อาจนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะหรือตึงเครียด

ขณะที่เอพีรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นเพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คำม่ันสัญญาหลังรัฐประหารว่าจะดำเนินการปฏิรูปทั้งด้านการเมืองการปกครอง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศ แต่กลับล้มเหลวหมดทั้ง 3 เรื่อง

ตำรวจบังคับนักข่าวสวมปลอกแขน-ห้ามปะปนผู้ชุมนุม-ไม่อนุญาตบัตรองค์กรสื่อ

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยังได้เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมดูแลความเรียบร้อยของการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง วันนี้ (21 พ.ค.) ก่อนจะประกาศให้สื่อมวลชนปฏิบัติตามข้อบังคับ 3 ข้อ ได้แก่ 

1. สื่อมวลชนที่ลงปฏิบัติพื้นที่ชุมนุมต้องสวมปลอกแขนระบุตัวตนที่ออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เท่านั้น และต้องคล้องบัตรประจำตัวสื่อที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ ไม่อนุญาตบัตรอื่นใดทั้งสิ้น 

2. ห้ามสื่อมวลชนอยู่รวมปะปนกับผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืน ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย แจ้งความผิดในข้อหาร่วมชุมนุมด้วย และขอให้อยู่ในแนวตำรวจ เพราะที่ผ่านมา เคยดำเนินคดีกับสื่อมวลชนในข้อหานี้มาก่อนแล้ว

3. ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ยุยงปลุกปั่น เกิดความเข้าใจผิด โดยเด็ดขาด 

สมาคมนักข่าวฯ ชี้ ตำรวจไม่ได้ประสานทำปลอกแขนสื่อ หวั่นเกิดความสับสน

นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงชี้แจงกรณีที่ บช.น.วางแนวทางให้สื่อมวลชนนำบัตรพนักงานในสังกัดองค์กรสื่อมวลชน หรือบัตรกรมประชาสัมพันธ์ไปแสดง เพื่อขอรับ 'ปลอกแขนสื่อมวลชน' ที่ออกโดย บช.น. เพื่อใช้ในการทำข่าวการชุมนุมในวันที่ 22 พ.ค. ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น "เป็นการดำเนินการเองของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่ได้ประสานหรือแจ้งมายังสมาคมนักข่าวฯ หรือองค์กรสื่อแต่อย่างใด"

"สื่อมวลชนบางส่วนไม่สบายใจหากจะต้องนำบัตรสื่อมวลชนไปแลกปลอกแขนที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ เพราะเคยเกิดกรณีที่มีเจ้าหน้าที่แอบแฝงเป็นสื่อมวลชน นำปลอกแขนที่ออกโดยองค์กรสื่อไปใส่ในการทำข่าวชุมนุมจนเกิดปัญหาในการรายงานข่าวในพื้นที่"

ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ รอบด้าน ในการรายงานข่าว ป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สมาคมนักข่าวฯ แนะนำให้สื่อมวลชนแสดงตนในการทำข่าวตามหลักวิชาชีพ ด้วยการห้อยหรือติดบัตรบัตรประจำตัวสื่อมวลชนที่แต่ละองค์กรออกให้ หรือบัตรสื่อมวลชนที่ผ่านการลงทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์แล้ว พร้อมรายงานข่าวตามกรอบจริยธรรมของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

ส่วนการจัดทำเครื่องหมายของสื่อมวลชนในการทำข่าวการชุมนุ��นั้น สมาคมฯ จะมีการปรึกษาหารือกับองค์กรสื่อภาคี กองบรรณาธิการสื่อที่เป็นสมาชิก และเครือข่ายสื่อมวลชนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: