ไม่พบผลการค้นหา
กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน เน้นย้ำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าทุกคนให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยาและกระบวนการแพทย์ที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ๆ โอกาสหายมีสูง เมื่ออาการดีขึ้นเป็นปกติ สามารถดูแลตัวเองต่อได้ เช่น ปฏิบัติธรรม ควบคู่กินยาต่อเนื่อง

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาโรคซึมเศร้าว่า ผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิตคาดว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 3 หรือมีประมาณ 1.5 ล้านคน แต่เข้าถึงการรักษายอดสะสมจนถึงขณะนี้เกือบร้อยละ 59  อีกร้อยละ41 ยังไม่ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งภาวะซึมเศร้านี้จัดเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่คนมีจิตใจอ่อนแอ ผู้ที่เป็นจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ เซ็ง ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ซึม หงอย เบื่อ ไม่อยากพูดไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม 

โดยผู้ที่มีอาการเกือบทั้งวันและเป็นติดต่อกันจนถึง 2 สัปดาห์ จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ต้องเข้ารับการรักษาโดยการกินยาควบคุมสารสื่อประสาทให้ทำงานเป็นปกติ ซึ่งมีบริการที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6-9 เดือน ควบคู่กับกระบวนทางการแพทย์ เช่น ทำจิตสังคมบำบัดร่วมด้วย และเมื่ออาการเข้าสู่สภาวะปกติดีแล้ว สามารถดูแลตัวเองต่อโดยวิธีการอื่นๆ ได้ เช่น เข้าวัดปฏิบัติธรรม ออกกำลังกาย แต่ถ้าไม่รีบรักษา อาการซึมเศร้าจะเป็นมากและรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการ ปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทั่วประเทศ อย่าอายหมอ เพราะเป็นการเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกอาชีพ มีอาการหลักที่ประชาชนสามารถสังเกตได้คือ 1.มีอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ ซึม หงอย ทั้งที่ตัวเองรู้สึก หรือคนอื่นก็สังเกตเห็น

และ 2. เบื่อ ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม ร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมากไป คิดช้าพูดช้า ทำอะไรช้าลง หรือหงุดหงิด กระวนกระวาย รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกตนเองไร้ค่า สมาธิความคิดอ่านช้าลง คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง

หากอาการเหล่านี้เป็นอยู่เกือบทั้งวันและเป็นติดต่อกันจนถึง 2 สัปดาห์ มีผลให้การทำกิจวัตรประจำวัน การเข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคม ทำหน้าที่การงานไม่ได้เหมือนเดิม หรือมีความทุกข์ทรมานใจอย่างเห็นได้ชัด หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะคงอยู่นานเป็นเดือน เรื้อรังเป็นปี และกลับเป็นซ้ำได้บ่อย หากมีอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าตัว  

นายแพทย์ณัฐกรกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและอยู่ระหว่างการรักษา ขอให้กินยาอย่างต่อเนื่องครบตามแพทย์ให้การรักษา อย่าลดยาหรือปรับยาเองแม้ว่าจะรู้สึกว่าตัวเองอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม สามารถทำงานตามปกติ และขอให้ยึดหลักปฏิบัติ 8 ประการดังนี้

1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป 

2. แยกแยะปัญหาใหญ่ ๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้

3. อย่าพยายามบังคับตัวเองหรือตั้งเป้ากับตัวเองสูงเกินไป

4. พยายามทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น

5.เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีหรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไป เช่น ออกกำลังกายกายเบาๆ ฟังเพลง

6.อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น หย่าร้าง ลาออกจากงาน โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่เคารพหรือไว้ใจ ดีที่สุดคือควรเลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าอาการซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้นมาก  

7. ไม่ควรตำหนิตัวเอง  

8. อย่ายอมรับความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นขณะมีอาการซึมเศร้า ว่าเป็นส่วนที่แม้จริงของตัวเอง เพราะความคิดที่เกิดขึ้นมาจากการเจ็บป่วย  

ทั้งนี้ แม้จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่การประชุมระหว่างตัวแทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานปรับปรุงกรอบอัตรากำลังบุคลากรในกลุ่มงานจิตเวช เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการสรุปโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังใหม่สำหรับบุคลากรในกลุ่มงานจิตเวช โดยมีการปรับโครงสร้างกรอบอัตรากำลังใหม่ ทำให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งไม่มี 'พยาบาลจิตเวช' ตั้งแต่ รพ.ชุมชนขนาดใหญ่ จนถึง รพ.ชุมชนขนาดเล็ก ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปรับกรอบอัตรากำลังนั้นสวนทางกับความต้องการบุคลากรที่เพิ่มขึ้น

ขอบคุณภาพ Photo by Francisco Moreno on Unsplash