ไม่พบผลการค้นหา
ทบทวนบทเรียนคดีดังขอตัว "ปิ่น จักกะพาก" อดีต "พ่อมดการเงิน" ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไทย-อังกฤษ

จากคดีดัง การขอตัว “ปิ่น จักกะพาก” อดีต “พ่อมดการเงิน” ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การขอตัวไม่ได้ผล ทำให้ทั้งไทยและอังกฤษต้องแบกรับค่าใช้จ่าย แถมต้องเอาปัญหาภายในของไทยไปถกในศาลต่างประเทศ

ย้อนไปเมื่อปี 2544 ประเทศไทยเคยเดินเรื่องขอให้รัฐบาลอังกฤษจับกุมและส่งกลับนายปิ่น ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารบริษัทเอกธนกิจ หรือ ไฟแนนเชียลวัน หรือ ฟินวัน ด้วยความหวังว่าจะนำตัวกลับมาขึ้นศาลในไทยในข้อหายักยอกเงินจากการบริหารกิจการที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ และขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 

ภูมิหลังปัญหาฟินวันกับวิกฤติเศรษฐกิจ

วิกฤติเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วเอเชียเมื่อปี 2540 มีสาเหตุหลักจาก “ภาวะฟองสบู่” คือจากการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การกู้ยืมเงินดอกเบี้ยถูกจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนจนกระทั่งฟองสบู่แตกและเกิดหนี้เสียจำนวนมหาศาล ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันทางการเงินได้รับผลกระทบอย่างหนัก และผลักให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินเพื่อค้ำจุนระบบ

กระบวนการเหล่านี้ทำให้ทางการไทยต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ พร้อมกับใช้มาตรการรัดเข็มขัดและประกาศลอยตัวค่าเงินบาท 

ขณะนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจว่ามีส่วนจุดชนวนวิกฤติ คือการดำเนินธุรกิจของฟินวันและเครือข่าย ซึ่งเคยประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทางการกล่าวหาว่าฟินวันผิดพลาดในการบริหารงาน ทำให้ธุรกิจมีปัญหาผลประกอบการตกต่ำ สภาพเช่นนั้นฉุดความเชื่อมั่นทำให้ตลาดระส่ำระสาย สร้างปัญหาขยายตัวไปทั้งระบบในเวลาต่อมา

ต่อมาธนาคารชาติได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้บริหารบริษัทฟินวันรวม 3 คน คือนายปิ่น เป็นจำเลยที่ 1 นายเติมชัย ภิญญาวัฒน์ จำเลยที่ 2 และนายสำราญ กนกวัฒนาวรรณ เป็นจำเลยที่ 3 แต่เนื่องจากนายปิ่นหนีออกนอกประเทศไปก่อนจึงดำเนินคดีกับนายเติมชัยและนายสำราญเท่านั้น

แม้ศาลชั้นต้นจะตัดสินให้ทั้งสองคนมีความผิดในฐานะยักยอกเงินของบริษัท แต่เมื่อทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กลับยกฟ้อง ต่อมาอัยการตัดสินใจไม่อุทธรณ์เรื่องต่อศาลฎีกา

ส่วนนายปิ่นซึ่งถือสัญชาติอเมริกันได้เดินทางไปหลายแห่ง จนกระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่ไทยได้รับข้อมูลจากบุคคลในครอบครัวของนายปิ่นและแจ้งให้เจ้าหน้าที่อังกฤษช่วยจับกุมตัวนายปิ่นจากบ้านพักในกรุงลอนดอนเมื่อ 11 ธ.ค. 2542

อีกด้านทางการไทยก็เดินเรื่องยื่นคำร้องเพื่อขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งตัวนายปิ่นเพื่อให้กลับไปรับการดำเนินคดีในประเทศไทย 

คดีขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน

กระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างอังกฤษและไทยกำหนดไว้อย่างชัดเจนตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไทยและอังกฤษ ปี 2454 เนื้อหาของสนธิสัญญาระบุให้ศาลเป็นผู้พิจารณาคำร้องว่าจะส่งตัวให้ผู้ขอหรือไม่ สนธิสัญญาระบุข้อหาที่ถือว่าเป็นความผิดที่จะนำตัวกลับไปดำเนินคดี ศาลต้องพิจารณาข้อหาและหลักฐานที่รัฐบาลผู้ขอยื่นไปว่ามีน้ำหนักเพียงพอก่อนตัดสินใจให้ส่งตัวได้ และข้อหาต้องตรงตามข้อกำหนดในเรื่องฐานความผิดที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ที่สำคัญทั้งข้อหาและการใช้หลักฐานต้องสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศผู้จะส่งตัวด้วย

ขณะที่ อังกฤษมีหลักในการดำเนินคดีที่อาจมีส่วนต่อการใช้วิจารณญานของศาลอังกฤษ ในประเด็นนี้ “น้ำแท้ มีบุญสล้าง” อัยการและนักวิชาการด้านกฎหมาย อธิบายถึงหลักการการสั่งดำเนินคดีของสำนักงานอัยการอังกฤษไว้ในบทความเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศอังกฤษ” ปรากฎในเวบไซด์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าในการสั่งฟ้อง อัยการต้องยึดหลักสำคัญ ว่าจะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดและนำไปสู่การลงโทษได้ และการฟ้องร้องนั้นต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ ต้องไม่ตั้งข้อหาที่เกินจำเป็นหรือที่หนักเกินจริง เพื่อหวังจะให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพหรือการรับสารภาพในข้อหาที่เบากว่า

ส่วนในคำร้องของทางการไทยนั้นอ้างว่านายปิ่นกระทำความผิดรวมทั้งหมด 45 ข้อหา ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นการทุจริตยักยอกเงินจากกิจการของฟินวันเป็นมูลค่ารวมแล้วถึง 35 ล้านปอนด์ จากการกู้ยืมระหว่างธนาคาร โดยฟินวันสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทในเครือ 2 แห่ง เป็นการสนับสนุนอย่างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารชาติที่ทำหน้าที่กำกับดูแล

ผู้พิจารณาคำร้องของไทยคือศาลแขวงหรือศาลมาจิสเทรทที่ตัดสินเมื่อเดือนมี.ค. 2544 โดยเห็นว่าคำร้องมีน้ำหนักและให้ส่งตัวนายปิ่นกลับไทยเพื่อไปต่อสู้คดี แต่ทว่าศาลตัดสินด้วยว่า จากข้อกล่าวหา 45 ข้อนั้น ข้อหาที่มีน้ำหนักเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดจริงมีเพียง 7 ข้อ ส่วนที่เหลือศาลให้ตัดทิ้งทั้งหมด

ส่วนนายปิ่นได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ทำให้เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และเพราะคำตัดสินของศาลแขวงที่ให้ลดข้อหาลง ทำให้การต่อสู้ในช่วงของศาลอุทธรณ์นั้นเขาเหลือข้อกล่าวหาที่จะต้องตีให้ตกอยู่ 7 ข้อ 

เนื้อหาการต่อสู้ของทีมนักกฎหมายนายปิ่นคือ แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้น แต่อย่างมากก็เป็นเพียงความผิดพลาดในการบริหารงานและไม่มีหลักฐานว่าเขากระทำการโดยมีเจตนาทุจริตยักยอกเงิน ทั้งยังไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งจากหน่วยงานผู้กำกับดูแลคือธนาคารชาติ เพราะการดำเนินการทุกอย่างอยู่ภายใต้ความรับรู้ของธนาคาร รวมทั้งสิ่งที่ทำก็เป็นวิธีปฏิบัติโดยทั่วไปในหมู่สถาบันการเงินของไทย

ข้อต่อสู้เช่นนี้สอดคล้องกับการที่นายปิ่นกล่าวว่า ทางการไทยมีมูลเหตุจูงใจไล่เอาผิดเขา เพราะต้องการให้เขาเป็นผู้รับผิดชอบโดยลำพังกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งอันที่จริงแล้วเกิดจากหลายปัจจัย และธนาคารชาติเองก็ผิดพลาดในการกำกับดูแลที่มีช่องโหว่ การขอตัวหนนี้ไทยจึงมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คือให้เขาเป็นเหยื่อรับผิดแทน และหากกลับไปสู้คดีในไทยเขาจะไม่มีโอกาสได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม 

นายปิ่นได้ว่าจ้างทีมทนายที่นำโดยนักกฎหมายมือหนึ่งที่เชี่ยวชาญในเรื่องคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในเวลานั้นคือ “อลัน โจนส์” ส่วนทีมนักกฎหมายที่สำนักงานอัยการอังกฤษแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้รัฐบาลไทยนำโดย “เอ็ดมัน ลอว์สัน” ซึ่งถือกันว่าเป็นนักกฎหมายมือหนึ่งมีประวัติการทำคดีดีเด่นมาโดยตลอดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้คดี ทีมงานของนายลอว์สันต้องอาศัยเอกสารและหลักฐานจากฝ่ายไทยทั้งสิ้นโดยทุกอย่างต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ

ปิ่น จักกะพาก.jpg

คำตัดสินของศาลอุทธรณ์อังกฤษโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คือ "ลอร์ดจัสติสพอล เคนเนดี้" และผู้พิพากษา "ไมเคิล แฮริสัน" ลงวันที่ 27 ก.ค. 2544 พบได้ในหน้าเวบไซท์ British and Irish Legal Information Institute เป็นเอกสารที่กล่าวได้ว่ายังไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างแพร่หลายในประเทศไทยแม้จะผ่านไปร่วม 17 ปีแล้วก็ตาม

เอกสารระบุว่า ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลแขวงที่ลดจำนวนข้อกล่าวหา 45 ข้อของไทยลงเหลือเพียง 7 เนื่องจากข้อหาที่ลดไปนั้นส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับการทำธุรกรรมการเงินในระหว่างเดือนพ.ย. 2539 - ก.พ. 2540 ซึ่งบริษัทฟินวันให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทลูก 2 ราย คือบริษัทเอกภาคและบริษัทซีบีเอ ซึ่งศาลถือว่าไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารชาติเพราะธนาคารรับรู้โดยตลอด ทั้งไม่ขัดวิถีปฏิบัติของสถาบันการเงินทั่วไปในไทย แต่ศาลอุทธรณ์ต้องว่าการทำธุรกรรมการเงินระหว่างฟินวันกับเอกภาคและซีบีเอสในช่วงหลังเดือนก.พ. 2540 มีพฤติกรรมที่เป็นการทุจริตยักยอกเงินตามข้อหาที่เหลือ 7 ข้อหรือไม่

ศาลได้ตรวจสอบหลักฐานหลายประการประกอบแต่ละข้อหา เช่นหลักฐานการสั่งจ่ายเงินเพื่อช่วยเรื่องสภาพคล่องของเอกภาค การรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินราคาถูกซึ่งเอกภาคหรือซีบีเอสไม่อยู่ในวิสัยจะจ่ายคืนได้ แต่ศาลก็ยังไม่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวทำให้มีผู้เสียประโยชน์แต่อย่างใดนอกจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินของเอกภาคและซีบีเอสที่ฟินวันถือหุ้นอยู่ และเมื่อศาลตรวจสอบการโรลโอเวอร์หนี้ก็ไม่พบว่าทำให้เกิดความเสียหายกับธนาคารกลาง 

นอกจากนี้ ผู้พิพากษาได้อ้างหลักคิดที่เป็นบทสรุปมาจากคดีอื่นๆ ก่อนหน้านั้นของอังกฤษว่า “กิจการไม่อาจยักยอกเงินตัวเอง” ได้ ที่สำคัญนั้น เจ้าหน้าที่ไทยเองยอมรับว่านายปิ่นไม่ได้ยักยอกเงินที่ว่านั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง  

ส่วนข้ออ้างของไทยเรื่องความไม่สมบูรณ์ของการบันทึกข้อมูลการจ่ายเงินระหว่างกันนั้น แม้บางเรื่องศาลจะเห็นว่ามีความก้ำกึ่งว่าครบถ้วนจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่ปรากฎหลักฐานที่แสดงเจตนาว่าต้องการหลอกลวงใคร การดำเนินการทุกเรื่องล้วนอยู่ในสายตาของธนาคารชาติ

ในการพิจารณาคดี ศาลอังกฤษได้มองรวมไปถึงเรื่องวิธีการทำงานของสถาบันการเงินไทยและธนาคารชาติ รวมไปถึงบริบทสภาพแวดล้อมในด้านเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ปัญหาเริ่มตั้งเค้า เพราะข้อกล่าวหาต่อนายปิ่นคือเขาดำเนินธุรกิจด้วยการนำเงิน “ดี” ของประชาชนเข้าไปจัดการผ่องถ่ายหนี้เสียของเอกภาคและซีบีเอส แทนที่จะยอมรับว่าเอกภาคและซีบีเอสไม่สามารถจะจ่ายหนี้ได้ในสภาพที่เศรษฐกิจมีปัญหา 

ศาลชี้ว่า นอกจากปัญหาทั้งหมดนี้จะอยู่ในสายตาของธนาคารชาติแล้ว อีกด้านหนึ่ง นักลงทุนและสถาบันการเงินต่างไม่ได้คาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงอย่างมากในเวลาต่อมา ตัวอย่างปรากฎในคำพยากรณ์เศรษฐกิจของหลายสำนักที่ต่างเห็นว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยเฉพาะธนาคารชาติที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตถึง 7.1% การนำข้อมูลเหล่านี้มาร้อยรัดเข้าด้วยกันชี้ไปที่ภาพว่า ในสภาพเช่นนั้นการทำธุรกิจสามารถผิดพลาดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเจตนาทุจริต และแม้แต่ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลยังคาดการณ์พลาดได้เช่นกัน

อีกจุดหนึ่งที่คำตัดสินของศาลบันทึกไว้ คือการที่เจ้าหน้าที่ไทยแปลข้อความบางส่วนจากไทยเป็นอังกฤษผิด ถ้อยคำภาษาอังกฤษมีลักษณะทำให้เห็นว่าความผิดของนายปิ่นรุนแรงขึ้น ไม่ว่าเรื่องนี้จะมีผลส่อเจตนาของทางการไทยอย่างไรหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อตรวจสอบทุกข้อหารวมทั้งหลักฐานที่มีไปเสนอในชั้นศาลแล้ว ในที่สุดศาลอุทธรณ์ของอังกฤษก็ได้ตัดสินให้ยกคำฟ้องและไม่ส่งตัวนายปิ่นให้ทางการไทย 

การดำเนินการขอตัวหนนั้น สื่อรายงานว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านปอนด์ ซึ่งสื่อชี้ว่าน่าจะต้องเป็นความรับผิดชอบของไทย ในส่วนของรัฐบาลอังกฤษต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างนักกฎหมายมาเป็นตัวแทนให้ไทย ซึ่งสื่ออังกฤษบางรายรายงานว่าเป็นเงินถึง 2 ล้านปอนด์ 

ต่อมานายปิ่นให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศหลังจากที่เขาชนะคดีว่า “คนคนเดียวไม่สามารถจะทำให้ระบบทั้งระบบล่มลงได้ ต้องมีอะไรผิดพลาดในระบบแน่นอน” 

บทเรียนจากความพยายามขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากอังกฤษนั้นเห็นได้ชัดว่าต้องใช้ทั้งทุนและเวลา เพราะต้องเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างนักกฎหมายระดับระหว่างประเทศมือหนึ่ง ต้องตระหนักถึงเงื่อนไขในการขอตัวตามเนื้อหาที่กำหนดในสนธิสัญญาระหว่างไทยและอังกฤษ เข้าใจหลักคิดในกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษ รวมถึงหลักการในการปกป้องสิทธิของผู้ที่ถูกขอตัว โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าพวกเขาอาจถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

ที่สำคัญคือ การพิจารณาของศาลอังกฤษในเรื่องการส่งตัวจะลงลึกถึงรายละเอียด เพื่อชั่งน้ำหนักของหลักฐานและข้อกล่าวหา ซึ่งมีผลทำให้การเข้าสู่กระบวนการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนในชั้นศาลอังกฤษกลายเป็นการนำรายละเอียดของการจัดการปัญหาภายในประเทศไปสู่สายตาของศาลอังกฤษและของต่างประเทศในที่สุด

อ้างอิง :

คดี

ชนะคดี

คำพิพากษา

เนื้อหาสนธิสัญญา

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศอังกฤษ

คดีโกงหมดอายุ 'ปิ่น จักกะพาก' กลับไทย

"ปิ่นจักกะพาก"อดีตพ่อมดการเงิน กลับเมืองไทยแล้ว