ไม่พบผลการค้นหา
ไม่พบฐานความผิดอันเนื่องมาจากการบริหารงานผิดพลาดหรือเจตนาละเลยไม่ทำตามหน้าที่ ทั้งยังมีข้อกำหนดสำคัญให้ละเว้นการส่งตัวในกรณีที่การขอตัวมีมูลเหตุจูงใจจากการเมือง

ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการพบตัว น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในลอนดอน โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลจากสถานทูตไทย และไม่อาจคาดเดาได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะยื่นขอหนังสือเดินทางจากสหราชอาณาจักรจริงหรือไม่ อีกทางหนึ่งก็สร้างข้ออภิปรายสำหรับผู้ติดตามข่าวที่มีความซับซ้อนทในทางกฎหมายทั้งภายในและกฎหมายระหว่างประเทศว่าหากรัฐบาลไทยกำลังติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษในเรื่องของการขอตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่จริงๆ ก็มีคำถามว่า การดำเนินการเช่นนี้สามารถกระทำได้ในลักษณะอย่างไรบ้าง

การขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งตัวผู้ที่ทางการไทยต้องการ ในกรณีหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นคือการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนผ่านข้อตกลงที่เรียกว่า สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไทย-อังกฤษ ซึ่งลงนามกันเมื่อ 4 มีนาคม 1911 หรือปี 2454 ในกรุงเทพฯ โดยผู้แทนอังกฤษ อาร์เธอร์ พีล (Arthur Peel) กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการในฐานะผู้แทนประเทศไทย ข้อตกลงนี้มีเนื้อหาทั้งหมด 17 มาตราด้วยกัน นอกเหนือจากข้อกำหนดกระบวนการขั้นตอนในการขอตัวแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือข้อกำหนดเรื่องฐานความผิดในอันที่จะถือเป็นเหตุให้ขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้

treaty.jpg

สนธิสัญญาระหว่างสยามและสหราชอาณาจักร

สนธิสัญญากำหนดความผิดที่จะเป็นฐานให้สามารถดำเนินเรื่องขอให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องการได้ ตามข้อความในมาตรา 2 มีทั้งหมด 31 ประการด้วยกันซึ่งสรุปโดยย่อได้ดังนี้

-ฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือพยายาม/มีส่วนร่วมในการฆ่า

-ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

-ทำร้ายร่างกาย

-ปลอมแปลงเงินตรา

-ทำเครื่องมือสำหรับปลอมแปลงเงินตรา

-ผลิตซ้ำเงินที่มาจากการปลอมแปลง

-ยักยอกทรัพย์

-สร้างความสูญเสียต่อทรัพย์สิน

-แอบอ้างเพื่อให้ได้เงิน ทรัพย์สิน ฯลฯ

-รับของโจร

-มีความผิดตามกฎหมายล้มละลาย

-เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของกิจการที่ถูกประกาศให้ผิดกฎหมาย

-ให้การเท็จต่อศาล

-ข่มขืน

-มีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์

-ละเมิดทางเพศ

-ช่วยทำแท้ง

-ลักพาตัว

-ลักพาเด็ก

-ทอดทิ้ง หรือกักตัวเด็ก

-ลักพาตัว หน่วงเหนี่ยวกักขัง

-ปล้น บุกรุกสถานที่

-วางเพลิง

-ใช้กำลังเข้าปล้นสดมภ์

-กระทำการด้วยเจตนาทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อบุคคลในรถไฟ

-ส่งจดหมายข่มขู่เรียกเงิน

-ปล้นสดมภ์ทางเรือ

-จมเรือหรือพยายามจะจมเรือ

-ทำร้ายผู้อื่นในเรือที่อยู่ในทะเล ด้วยเจตนาถึงชีวิตหรือให้เกิดผลร้ายต่อร่างกาย

-ร่วมกับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปก่อเหตุต่อต้านผู้ควบคุมเรือที่อยู่ในทะเล

-ร่วมในการค้าทาสในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายของทั้งสองประเทศ

มาตรานี้ยังระบุว่า การขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลที่มีส่วนในการทำตามความผิดตามข้อกำหนดเบื้องต้น ต้องมีเงื่อนไขว่าเป็นสิ่งที่กฎหมายของทั้งสองประเทศกำหนดไว้ให้เป็นสิ่งที่ลงโทษได้เท่านั้น นอกจากนั้นยังอาจจะขอให้มีการส่งตัวโดยไม่เปิดเผยได้และในความผิดอื่นๆแต่ทั้งนี้จะต้องเป็นความผิดที่กฎหมายของทั้งสองประเทศรองรับไว้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดที่สำคัญอีกประการหนึ่งในเรื่องเงื่อนไขของการส่งตัว ตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญาระบุว่าการขอตัวจะไม่มีผล หากรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการขอตัวนั้นมีมูลเหตุมาจากการเมือง หรือบุคคลที่ถูกขอตัวสามารถพิสูจน์ได้ว่า การขอตัวดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจที่จะลงโทษทางการเมือง นอกจากนี้มาตรา 7 ระบุว่าความผิดจากการถูกตัดสินว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ไม่ถือว่าเป็นการถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิด ถือเพียงว่าเป็นการถูกกล่าวหาเท่านั้น

อีกมาตราหนึ่งที่น่าสนใจคือมาตรา 13 กำหนดว่าหลังการจับกุมบุคคลที่ต้องการขอให้มีการส่งตัวแล้ว หากภายในเวลา 2 เดือนหรือตามที่ขอขยายเวลาไว้ ประเทศที่ขอตัวไม่สามารถนำหลักฐานพิสูจน์จนเป็นที่พอใจให้มีการส่งตัวได้ ก็จะต้องปล่อยตัวบุคคลคนนั้น

สำหรับบุคคลที่ถูกตัดสินลงโทษและรับโทษไปแล้ว มาตรา 4 กำหนดไว้ไม่ให้มีการส่งตัวกลับ หรือหากยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีก็จะต้องรอให้การดำเนินคดีเสร็จสิ้นเสียก่อน นอกจากนั้นข้อความส่วนอื่นของสนธิสัญญาระบุเรื่องกระบวนการในการขอให้มีการส่งตัวว่าจะต้องทำผ่านช่องทางของรัฐบาล ในกรณีของอังกฤษนั้นเมื่อมีการจับกุมตัว จะต้องนำตัวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอังกฤษเพื่อตรวจสอบว่ามีมูลเหตุอันสมควรที่จะส่งตัวให้หรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้รัฐบาลไทยจะต้องนำส่งเอกสารประกอบคำร้อง ในกรณีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดแล้วก็จะต้องยื่นสำเนาคำตัดสินประกอบคำร้องด้วย มาตรา 11 ระบุว่า การส่งตัวจะกระทำก็ต่อเมื่อฝ่ายที่ตัดสินใจพบว่าหลักฐานการขอตัวมีน้ำหนักมากพอตามกฎหมายของประเทศตนเองแล้วเท่านั้น