สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ถกเถียงในประเด็น "ร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา คณะกรรมการนักศึกษา เข้าร่วมเวทีนี้
ขณะที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตัวแทนจากสภานิสิต และสโมสรนิสิต รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ และนายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรม
นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าปัญหาในทางโครงสร้างคือการตีความที่ตัวร่างกฎดังกล่าวมีความกำกวม เอื้อให้เกิดการตีความโดยไม่ขึ้นอยู่กับมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเนื้อหานั้นก็เป็นการควบคุมมากกว่าการคุ้มครองหรือไม่
ขณะเดียวกันร่างกฎกระทรวงก็โยนอำนาจให้สถานศึกษานั่นก็คือ ครูหรืออาจารย์ ซึ่งจะทราบได้อย่างไรว่าจะไม่มีการใช้ในการนำมากลั่นแกล้งหรือใช้ต่อรองทางการเมือง เพราะไม่เชื่อว่าผู้ใช้อำนาจนี้จะมีดุลยพินิจเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นการออกกฎหมายต้องรับฟังทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียต่อการออกกฎ
"ไม่ใช่การมารับฟังหลังจากมีการออกมาท้วงติง โดยไม่มีการประเมินผลกระทบ จึงอยากให้ยกเลิกร่างกฎกระทรวงครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดทุกฝ่าย" ประธานสภานิสิตจุฬาฯกล่าว
นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้เสนอว่าอยากให้กลับไปสู่กระบวนการเริ่มต้น เพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย ในการร่างกฎกระทรวงออกมาเพื่อเป็นประโยชน์และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
จึงอยากฝากถึงปลัด ศธ. และรัฐมนตรี ศธ. ว่ากิจกรรมครั้งนี้ไม่ใช่เวทีการกศุล แต่เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรจัดขึ้น จึงอยากเสนอว่าให้จัดเวทีขึ้นจากภาครัฐที่มีความพร้อมในงบประมาณและสถานที่ ให้เกิดความเท่าเทียมกับทุกฝ่าย
'นักวิชาการ' กังวลร่างคุมประพฤติ 'ควบคุมหรือดูแล'
ด้านนายเดชรัต กล่าวว่าในฐานะอาจารย์ที่ต้องเป็นผู้ปฎิบัติตามกฎถ้ามีการประกาศใช้ สิ่งที่เป็นห่วงคือ อยากจะทำหน้าดูแลไม่ใช่ผู้ควบคุม โดยหน้าที่ของผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจ ซึ่งแตกต่างจากผู้คุมคือการใช้อำนาจแทรกแซง ผู้ควบคุมอาจหวังดี แต่ไม่ได้เข้าใจตัวเด็ก
ขณะเดียวกัน มีความกังวลในประเด็นว่ายิ่งแก้ไขยิ่งคลุมเครือ เช่น การห้ามรวมกลุ่ม กังวลว่าจะส่งผลให้มีการอ้างคำสั่งนี้เข้ามาคุกคาม หรือไม่
"ควรให้เขาได้ดูแลตัวเอง เราไม่ควรที่จะใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซงโดยความไม่เข้าใจ" อ.เดชรัต กล่าว
นอกจากนี้ การใช้คำว่ามั่วสุมอันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ควรแก้ไขการใช้คำที่เหมาะสมมากกว่านี้
ศธ.ยันไม่มีเจตนาคุกคามเสรีภาพ ปัดตีกรอบการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ส่วนนายสุทิน แก้วพนา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงว่า การออกร่างกฎกระทรวงไม่มีเจตนาที่จะออกมาควบคุม แต่เป็นการคุ้มครองและดูแลเด็กที่หลุดระบบ ซึ่งในปัจจุบันพบเด็กกลุ่มนี้กว่า 1 หมื่นคนต่อปี จากตัวเลขเยาวชน 7 ล้านคน เพื่อดึงเด็กเหล่านี้กลับมาในระบบ
โดยเป้าหมายหลักของการออกกฎครั้งนี้เพื่อที่จะดูแลเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ในทุกเรื่อง อย่างไรก็ดี วันนี้จะมีการนำความคิดเห็นในเวที รวบรวมเพื่อส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาต่อไป
"การมาวันนี้มาเพื่อรับฟัง และไม่สามารถตอบรับข้อเสนอได้ว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังหรือไม่ เนื่องจากไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ" ผู้ช่วยปลัดศธ.กล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการร่างกฎครั้งนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่มีเจตนาคุกคามเสรีภาพของเยาวชนตามที่กังวล
สำหรับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนิสิต นักศึกษา เป็นผลมาจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎหมายกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา และถูกวิพากษ์วิจารย์ว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของเยาวชน และนำไปสู่การออกแถลงการณ์คัดค้านการออกกฎร่างคุมประพฤติจากหลายมหาวิทยาลัย โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีสาระสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
อ่านเพิ่มเติม