แม้จะเป็นเรื่องเข้าใจได้หากพูดถึงเจตนาดีที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. ไม่อยากให้สังคมและเด็ก 'พัง' แต่วันนี้ความกำกวมในเนื้อหาและแนวโน้มการจำกัดสิทธิเสรีภาพนักเรียนนักศึกษาคือประเด็นหลัก ดังนั้นก่อนจะประกาศมาตรการ 'ป้องกันเด็กพัง' เราอยากฟังมุมมองจาก 'ช่างซ่อมเด็ก' ที่สังคมว่า 'พัง' ดูบ้าง
สำหรับคนทำงานด้านปัญหาเยาวชนอย่าง 'สันติ โฉมยงค์' เภสัชกรแกนนำกลุ่มรักษ์บางบาล เครือข่ายกิจกรรมสร้างสรรค์เด็ก เยาวชนและครอบครัว เขากังวลว่าโอกาสที่จะได้เติบโตของวัยรุ่นในนิยามอื่นๆ จะถูกผลักออกจากคุณค่าที่ดีงามหนึ่งเดียว โดยเขามุ่งอธิบายปรากฏการณ์ในต่างจังหวัดเป็นสำคัญ เช่น กรณีเด็กแว้น
"ต้องยอมรับว่า กิจกรรมของเด็กต่างจังหวัดมีทางเลือกไม่เยอะ ไม่แปลกที่เขาจะรวมกลุ่มกันแว้นเที่ยวเตร่ แน่นอนมันเป็นปัญหาสังคม แต่เราไม่ควรเชื่อว่ามันจะแก้ได้ด้วยการจำกัดเสรีภาพ มันคือกระบวนการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งของเขา ผู้ใหญ่จะทำอย่างไรไม่ให้การแว้นไปละเมิดใคร จะส่งเสริมให้เขาได้ดีตามศักยภาพของเขาได้อย่างไร ถ้ากฎอันนี้เหมาว่าเขาผิดแล้วผลักเขาออกนอกระบบ อย่าลืมว่าในสถานพินิจก็มีกระบวนการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง"
เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการชี้แจงว่า การแก้ไขกฎดังกล่าวนั้นเป็นการปรับให้มีความเท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อหา 'ห้ามแสดงพฤติกรรมชู้สาว และกระทำลามกอนาจาร ทุกสถานที่'
สันติเล่าถึงประสบการณ์การซ่อมแซมเด็กหญิงที่ท้องก่อนเรียนจบ ไว้น่าสนใจว่า "ที่ผ่านมา กลุ่มเราเคยเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ ป.6 ให้เขาคลอดก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้จบ ป. 6 เด็กก็ไม่ได้ล้มเหลวนะครับ ตอนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โต มีเด็กชายหญิงอยู่ด้วยกัน มีลูกเป็นครอบครัวตั้งแต่ ม.4 ทำให้พวกเขาต้องออกจากระบบสังคมหลัก แต่ผู้ชายทำงานส่งผู้หญิงเรียนมหาลัย มีปรากฎการณ์แบบนี้เยอะแยะ แสดงว่าการมีเพศสัมพันธ์สมัยเด็กไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเขาเป็นคนไม่ดี"
นอกจากนี้ สันติชี้ว่า เด็กสาวที่ฐานะยากจน มีโอกาสใกล้ชิดกับเรื่องเพศด้วยเงื่อนไขอื่นๆ
"ในชนบทมีเด็กยากจนเยอะนะ ลองนึกถึงเด็กผู้หญิงที่ต้องไปเป็นเด็กเชียร์เบียร์เพื่อหาเงิน ด้วยหน้าที่งานของเขา กฎหมายนี้อาจจะตีความว่าเข้าข่ายลามกอนาจาร ทั้งๆ ที่รัฐส่งเสริมระบบทุนและการค้าเสรี เรื่องเพศก็ถูกดึงมาใช้ในการส่งเสริมการขายเป็นปกติ การตีความเป็นดุลยพินิจ กลับกันถ้าเขาได้เป็นพริตตี้รถยุโรป ความหมายก็เปลี่ยนไปแล้ว"
สันติใช้คำว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว "เป็นความคิดเหมาเข่ง" ละเลยมิติอื่นๆ ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และในฐานะคนที่ทำงานอยู่กับการเยียวยาเด็กที่สังคมมองว่ามีปัญหา เขาค่อนข้างรู้สึกล้มเหลวและผิดหวัง
"พอร่างกฎนี้ออกมา รู้สึกว่าเป็นความล้มเหลว ในขณะที่ภาคประชาสังคมอย่างพวกเราพยายามที่จะแก้ปัญหาเด็ก ด้วยวิธีที่พยายามเข้าใจมิติที่ซับซ้อนของพื้นที่และบริบทเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระทรวงศึกษาธิการกลับพยายามออกกฎจำกัดเสรีภาพในการเรียนรู้ที่ต่างกันของเด็กแทนที่จะช่วยกันออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ให้หลากหลาย ให้เด็กได้พัฒนาตัวเองตามศักยภาพ ผมมองว่ามันคือการรวมอำนาจ และทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก"
เขาทิ้งท้ายการพูดคุยครั้งนี้อย่างน่าคิดว่า ถ้ากฎกระทรวงนี้ประกาศเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แชมป์ eSports ในปัจจุบัน คงเข้าสถานพินิจและถูกผลักออกจากสังคมที่ดีงามตั้งแต่ตอนนั้น