ไม่พบผลการค้นหา
ข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือข่าวที่ Dolce & Gabbana หรือ D&G แบรนด์แฟชั่นชั้นสูงจากอิตาลีถูกโจมตีอย่างหนักในโซเชียลมีเดียของจีนเนื่องจากชาวจีนไม่พอใจวีดีโอโฆษณาที่มีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติและวัฒนธรรมชาวจีน

กระแสดังต่อต้านอย่างรุนแรงทำให้งานแฟชั่นโชว์ครั้งใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ถูกยกเลิกหรือล้มไม่เป็นท่าก่อนเริ่มงานไม่กี่ชั่วโมง เพราะอิทธิพลของโซเชียลมีเดียทำให้นางแบบชาวจีนทั้งหมดถอนตัว โมเดลลิ่งปฏิเสธหานางแบบใหม่ให้ทันเวลา และแขกคนสำคัญๆ ที่เชิญไว้ ประกาศยกเลิกการเข้าร่วมงานดังกล่าว ตามมาด้วยการถอดสินค้าของ D&G ออกจากระบบการสั่งซื้อออนไลน์ทุกแพลทฟอร์มในจีน

ข่าวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของโซเชียลมีเดียจีน ที่ไม่อาจละเลยหรือดูหมิ่นได้

การใช้อินเทอร์เน็ตในในจีนเริ่มตั้งแต่ปี 1987 ในรูปแบบของการใช้อีเมล์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารระหว่างนักวิชาการในสถาบันเทคโนโลยีแห่งปักกิ่ง ต่อมาในปี 1994 จึงได้เกิดการใช้อีเมล์โดยประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก แล้วกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในปี 1998 พร้อมๆกับที่ทางการจีนพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ขึ้นใช้ จนในปี 2009 ทางการจีนได้ให้สัมปทานเครือข่าย 3G เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดใช้โซเชียลมีเดียในโทรศัพท์มือถือซึ่งจำนวนผู้ใช้ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก

ปัจจุบัน จีนมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน ปรากฏว่ามีประชากรมากถึง 725 ล้านคนที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยแต่ละคนใช้มากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม

แม้ว่าจีนจะปิดกั้นเครือข่ายแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียยอดนิยมของโลกตะวันตก อย่าง Facebook, YouTube และ Twitter แต่ทางการจีนอนุญาตให้เอกชนจีนพัฒนาโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มขึ้นใช้เองในจีนหลายร้อยแพลตฟอร์ม โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การเซนเซอร์โดยทางการจีนอย่างเคร่งครัด มีการควบคุมและตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ได้ตลอดเวลาเมื่อทางการจีนเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดเป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและระบอบคอมมิวนิสต์ของจีน

โซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่ (1) WeChat เปิดให้บริการเมื่อปี 2011 มีลักษณะคล้ายทั้ง Line และ Facebook เป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุด และยังกลายเป็นแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่มีคนใช้มากที่สุดในจีนในปี 2018 ล่าสุดพัฒนาขึ้นจนสามารถโอนเงินให้กันเป็นอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนแล้วสามารถนำไปซื้อสินค้าได้จริงโดยไม่ต้องพกเงินสด (2) Sina Weibo ได้รับฉายาว่าเป็น Twitter ของจีน การด่าการโจมตีประเด็นต่างๆ ที่แสบสันเผ็ดร้อนจนกลายเป็นกระแสระดับชาติหรือนานาชาติ มักเริ่มจาก Sina Weibo (3) Tencent QQ เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความ (4) Touduo Youku ได้รับฉายาว่า Youtube ของจีน (5) Baidu Tieba เป็นเสิร์ชเอ็นจินและสามารถตั้งกระทู้สนทนาได้ (6) Douban เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่นเดียวกับ Pantip ของไทย (7) Zhihu ได้รับฉายาว่าเป็น Quara แห่งจีน (8) Meituan ได้รับฉายาว่า Yelp แห่งจีน (9) Momo ได้รับฉายาว่าเป็น Tinder แห่งจีน และ (10) Meipai ได้รับฉายาว่าเป็น Instagram แห่งจีน

โซเชียลมีเดียของจีนกลายเป็นแหล่งเริ่มของกระแสต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ กล่าวคือ ถ้ามีใครชมว่าสินค้าอะไรคุณภาพดีหรือสถานที่ท่องเที่ยวใดดีงาม ก็จะกลายเป็นกระแสได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนเป็นร้อยๆล้านไปซื้อตามหรือไปท่องเที่ยวตามรอย และในทางกลับกัน เมื่อมีคนเผยแพร่เรื่องราวใดในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ชาวจีนถูกดูถูกเหยียดหยาม กระแสโซเชียลมีเดียของจีนก็จะคุกรุ่นแล้วลุกโหมเป็นไฟไหม้ป่าได้อย่างรวดเร็ว

D&G ไม่ใช่ธุรกิจแรกที่โดนถล่มในโซเชียลมีเดียของจีนจนได้รับผลกระทบทางธุรกิจอย่างสาหัส

ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน ปี 2017 สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์เคยถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงและรณรงค์ให้คนจีนเลิกใช้บริการ เนื่องจากมีคลิปข่าวเผยแพร่การที่พนักงานของสายการบินไล่ผู้โดยสารที่มีหน้าตาเป็นจีนลงจากเครื่องบิน แม้ภายหลังจะปรากฏว่าผู้โดยสารคนนั้นเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามก็ตาม แต่ความเสียหายทางธุรกิจถึงขั้นที่ให้สายการบินต้องออกมาขอโทษและจ่ายค่าชดเชย

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2018 โซเชียลมีเดียของจีนได้ประโคมข่าวที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของไทยให้สัมภาษณ์ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต 41 ราย ผลปรากฏว่ากระแสโกรธแค้นลามไปทั่วประเทศจีนอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนจีนหลายสำนักหันมาทำข่าวดังกล่าว เกิดการรณรงค์ให้ชาวจีนเลิกมาท่องเที่ยวเมืองไทย ส่งผลให้มีการยกเลิกแพ็จเกจทัวร์และการจองโรงแรม จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงครั้งใหญ่ จนพล.อ.ประวิตร ต้องยินยอมกล่าวขอโทษในที่สุด

ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงเป็นบทเรียนให้กับบรรดากิจการต่างๆ ที่ต้องการทำธุรกิจกับจีน ให้ระมัดระวังการแสดงออก เพราะจีนเป็นประเทศที่มีความชาตินิยมสูงอย่างยิ่ง และโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูงมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหยียดจีน! 'ดอลเช่ กาบบาน่า' ถูกสังคมจีนแบนหลังปล่อยโฆษณาเหยียดวัฒนธรรม