ไม่พบผลการค้นหา
“สุเทพ เทือกสุบรรณ ” โผล่ชงแก้กม.พรรคการเมือง เพื่อสร้างกติกาที่เท่าเทียมทุกพรรค   ขณะที่ วิปสนช. เผยที่ประชุมยัน กม.พรรคการเมืองระบุชัด ยื่นนายทะเบียนพรรคการเมืองขอขยายเวลาแจ้งฐานข้อมูลทะเบียนสมาชิกได้ อ้างเร็วกว่าแก้กฏหมาย

วันนี้ (13ธ.ค.) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงผลการประชุมวิปสนช.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอแนะจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคพลังชล ได้สอบถามแนวทางการแก้ปัญหาเนื่องจากเกรงว่าจะดำเนินการเรื่องฐานข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคไม่ทันตามกรอบเวลานั้น ในบทเฉพาะกาลมาตรา 140 และ 141 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งฐานข้อมูลทะเบียนสมาชิกที่มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการจัดประชุมใหญ่พรรคการเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคและแก้ไขข้อบังคับพรรคนั้น

ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า กฎหมายพรรคการเมืองเปิดช่องให้พรรคการเมืองสามารถยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตามความจำเป็นได้ รวมแล้วไม่เกิน 3 ปี และนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้นสามารถพิจารณาอนุญาตได้ แต่หากไม่อนุญาต ต้องเสนอให้กกต.พิจารณา

อีกทั้งยังเปิดช่องให้พรรคการเมืองร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกด้วย ดังนั้น การยื่นขอขยายเวลาจากนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้นจะง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมือง

กลุ่มที่ 2 เป็นข้อเสนอแนะจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ที่เสนอให้แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่

ซึ่งวิปสนช.บางส่วนเห็นว่า เรื่องความเป็นธรรมนั้นเป็นเรื่องของรายละเอียด และอาจไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย โดยอาจจะเชิญทั้ง 2 ท่านมาพูดคุย หรือแก้ไขจากแนวทางปฏิบัติของกกต.ก็ได้

อย่างไรก็ตาม วิปสนช.ได้รับข้อห่วงกังวลดังกล่าวไว้พิจารณา โดยมอบให้กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ไปพิจารณาศึกษาต่อไป

สำหรับกรอบเวลาการพิจารณาข้อเสนอแนะของนายไพบูลย์และนายสุเทพนั้น ยังไม่ได้กำหนด แต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจไม่ต้องแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองก็ได้ แต่ใช้การออกประกาศและข้อบังคับของกกต.แทน เพราะหากแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองจะมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญด้วย

อย่างไรก็ตาม หากแก้ไขพพ.ร.ป.พรรคการเมือง จะทำให้โรดแม็พเลือกตั้งในเดือนพ.ย.61 ต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น ยืนยันว่าตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็พ โดยพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ2-3ของสนช.ในวันที่ 21-22 ม.ค.