ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์พบว่า มดที่ติดเชื้อจะแยกตัวเองออกไปจากตัวอื่น และใช้ชีวิตอยู่นอกรังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตัวเองนำเชื้อไปติดมดตัวอื่น

นาตาลี สตรอยเมท และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ของสวิตเซอร์แลนด์ ศึกษาพฤติกรรมของมดดำสวน โดยติดป้ายมดหลายหมื่นตัวจาก 22 อาณาจักร และใช้ระบบติดตามเส้นทางการเดินของมด และพบว่า มดเข้าใจความสำคัญของการหลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมสายพันธุ์ตัวอื่นๆ เมื่อรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ

ตามปกติแล้ว มดจะแบ่งหน้าที่กันทำงาน ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ โดยมดอายุน้อยจะอยู่แต่ในรังทำหน้าที่เป็นพยาบาลดูแลไข่ ส่วนมดที่แก่ลงมาจะออกไปหาเสบียงนอกรัง ซึ่งมดที่ออกไปหาอาหารมักมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า

นักวิจัยได้ปล่อยสปอร์ของเชื้อรา Metarhizium brunneum ไปติดที่ผิวชั้นนอกของมดงานที่ทำหน้าที่หาอาหารร้อยละ 10 ของทั้งหมดที่ติดป้ายไว้ หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วัน เชื้อราจะเข้าไปในร่างกายของมดและทำให้มดตาย

เมื่อมดได้รับเชื้อรา พวกมันจะแยกกลุ่มออกจากมดที่ไม่ติดเชื้อ แม้จะยังไม่มีอาการป่วยเลยก็ตาม และมดที่ติดเชื้อจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป พวกมันจะอยู่นอกรังมากขึ้น และลดการปฏิสัมพันธ์กับมดงานตัวอื่น พยายามอยู่นอกรังมากขึ้น มดพยาบาลก็จะนำไข่เข้าไปอยู่ลึกขึ้นกว่าปกติ ซึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นการลดการแพร่เชื้อและปกป้องมดงานที่สุขภาพดี และปกป้องราชินีมดจากการติดเชื้อด้วย

นักวิจัยคาดว่า พฤติกรรมเช่นนี้น่าจะพบเห็นได้จากแมลงชนิดอื่นๆ ด้วย เนื่องจากมีเพียงราชินีเท่านั้นที่ทำหน้าที่สืบพันธุ์ ดังนั้น แมลงที่ติดเชื้อจึงเลือกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ที่มา : New Scientist, News Week