ไม่พบผลการค้นหา
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ห่วงบาทแข็ง-ขึ้นค่าแรง กระทบส่งออก มีโอกาสที่ส่งออกปีนี้จะโตแค่ 3.5% พร้อมชงรัฐเลื่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ฟาก กกร. คงประมาณการจีดีพี ปี 61 โต 3.8-4.5% ส่งออก 3.5-6.0%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. กล่าวว่า สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ยังคงเป้าหมายการส่งออกไทยในปีนี้อยู่ที่ระดับ 5.5% แม้จะได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในวันที่ 1 เม.ย. นี้ ซึ่งคาดว่า จะส่งผลกระทบให้สูญรายได้จากการส่งออกประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.5% ของมูลค่าการส่งออก ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของการส่งออกลดลงเหลือ 3.5% ในปีนี้ได้ 

ส่วนปัจจัยบวกต่อการส่งออกปีนี้ ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลัก การปรับตัวลักษณะของสินค้าไทยไปสู่ดิจิทัลตามความต้องการของตลาด และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อราคาสินค้าเกษตร

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์ที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 2.85% ขณะที่มีมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย 'อเมริกามาก่อน' หรือ American first ของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ อีกทั้ง ต้นทุนการส่งออกยังจะเพิ่มสูงขึ้นจากการขาดแคลนแรงงาน และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตรา 5-22 บาท ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศคู่ค้าสำคัญ และการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป อาจส่งผลทางอ้อมต่อการสร้างความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุนต่างประเทศ


"สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือมีข้อเสนอแก้ปัญหาการส่งออกปีนี้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จึงเสนอให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มทักษะแรงงานฝีมือขั้นสูง" นางสาวกัณญภัค กล่าว

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประจำเดือนก.พ. ว่าที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจโลกปี 2561 มีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการปรับลดภาษี ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจหลักต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ยังคงต้องติดตามมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่อาจ รวมทั้งความผันผวนของทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม กกร. เห็นว่ายังมีแรงส่งของการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ขณะที่การจัดทำงบกลางเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 อีก 1.5 แสนล้านบาท น่าจะมีส่วนหนุนเศรษฐกิจในปีนี้ได้ และยังคงประเมินว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2561 อยู่ในกรอบ 3.8-4.5% และการส่งออกคาดขยายตัว 3.5-6.0% ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการลดหย่อนภาษี 1.15 เท่าของค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ให้สิ้นสุดปี 2562 น่าจะช่วยได้อีกทางหนึ่ง

กกร.
"การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในระยะเวลาเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา สร้างความกังวลใจต่อประเด็นความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ดังนั้น ในตอนนี้ กกร. จะยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจและการส่งออกในปี 2561 ไว้ตามเดิม แต่จะติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงต่อไปอย่างใกล้ชิด" นายปรีดี กล่าว