พรรคประชาชนกัมพูชา หรือ ซีพีพี ของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยโฆษกพรรค CPP ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สทางโทรศัพท์ว่า พรรครัฐบาลได้คะแนนเสียงร้อยละ 77.5 และสามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภามาครองได้ทั้งหมด 125 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม นานาชาติและอดีตสมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือ ซีเอ็นอาร์พี ประณามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งจอมปลอมที่พรรค CPP ไร้คู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ
นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ประจำภาคพื้นเอเชียเคยกล่าวว่า สิ่งที่ได้เห็นในวันที่ 29 ก.ค. ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นงานศพครั้งสุดท้ายของประชาธิปไตยในกัมพูชา เพราะช่วงสองปีที่ผ่านมา ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และพรรครัฐบาลซีพีพีได้ปราบปรามภาคประชาสังคมและพรรคฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น โดยอ้างว่าเป็นการรักษาความสงบในประเทศ
พรรคฝ่ายค้านถูกยุบ ส่วนพรรคเล็กเป็นเพียงไม้ประดับ
เนื่องจากศาลสูงได้สั่งยุบพรรค CNRP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชา ตั้งแต่ปลายปี 2560 และตัดสิทธิทางการเมืองของสมาชิกอาวุโสของพรรค CNRP จำนวน 118 คน เป็นเวลา 5 ปี หลังพรรครัฐบาลยื่นฟ้องว่า พรรค CNRP วางแผนโค่นล้มรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ นายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรค CNRP ยังถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏและสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ โค่นล้มรัฐบาล
แม้จะมีกว่า 20 พรรคที่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ แต่พรรคเล็กเหล่านี้ไม่มีอิทธิพลและศักยภาพมากพอจะต่อสู้กับพรรคใหญ่และเก่าแก่อย่างพรรค CPP ยิ่งไปกว่านั้น พรรคเล็กหลายพรรคเป็นเพียงพรรคไม้ประดับ ไม่มีพรรคไหนที่มีจุดยืนต่อต้านพรรค CNRP เลยแม้แต่พรรคเดียว
บอยคอตไร้ความหมาย
แม้พรรค CNRP จะเรียกร้องให้ประชาชนผู้มีใจรักประชาธิปไตยร่วมกันบอยคอตการเลือกตั้ง และโลกโซเชียลรณรงค์แคมเปญ 'ต้องจุ่มนิ้วลงไปในหมึกนิ้วสะอาด' เพื่อแสดงถึงการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่แคมเปญนี้ก็ไม่สำเร็จนัก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาเปิดเผยจำนวนประชาชนที่ไปลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งว่ามีสูงกว่าร้อยละ 82 หรือประมาณ 6,880,000 คน มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปปี 2556 ที่มีการแข่งขันกันดุเดือดระหว่างพรรค CPP และ CNRP ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งทำให้รัฐบาลนำตัวเลขไปยืนยันความชอบธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้
โดยกกต.กัมพูชาประกาศว่าชาวกัมพูชามีวุฒิภาวะมากพอ และเลือกไปใช้สิทธิเลือกผู้นำของตัวเองแทนการบอยคอต แต่พรรค CNRP ระบุว่า รัฐบาลทำตัวเลขขึ้นมากกว่า
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคฝ่ายค้าน ถูกนายจ้างบังคับให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นอาจถูกไล่ออก เนื่องจากตัวเลขของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกนำมาเป็นเครื่องยืนยันว่าไม่พอใจรัฐบาลของนายฮุน เซนและการเลือกตั้งที่ไม่มีตัวเลือกครั้งนี้
ประท้วงด้วยบัตรเสีย
ขณะที่ ลูกจ้างจำนวนมากถูกนายจ้างกดดันหรือข่มขู่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเงียบๆ ด้วยการทำบัตรเสีย โดยจำนวนบัตรเสียในการเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนมาก โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่มีบัตรเสียมากกว่าร้อยละ 10 ส่วนจำนวนบัตรเสียในกรุงพนญเปญมีมากถึงร้อยละ 17
ประเทศพันธมิตรช่วยรับรองความโปร่งใส
ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากประเทศพันธมิตรของกัมพูชาอย่างจีน อุซเบกิสถาน เมียนมา ระบุว่า ไม่พบสัญญาณว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งถูกกดดันให้ไปเลือกตั้ง และขั้นตอนการจัดการเลือกตั้งก็โปร่งใส
อย่างไรก็ตาม จีนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลของนายฮุน เซน เพราะต้องการขยายอำนาจของตัวเองในกัมพูชา ในเวลาที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรือ อียู ถอนเงินช่วยเหลือออกจากกัมพูชา เพื่อประท้วงการจับกุมนายเกิม เสิกขา และทำให้จีนได้เข้ามาให้เงินกัมพูชา 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจัดซื้อคูหาเลือกตั้งและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการเลือกตั้ง
ที่ผ่านมา จีนถือเป็นผู้บริจาคและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และทุ่มเงินลงกับกัมพูชาหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่นาน จีนยังสัญญาว่าจะให้กัมพูชากู้เงิน 259 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจ่ายค่าทำถนนวงเวียนรอบกรุงพนมเปญด้วย
ตะวันตกและองค์กรสิทธิฯ ประณามการเลือกตั้งกัมพูชา
เป็นที่สังเกตว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีทีมผู้สังเกตการณ์จากชาติตะวันตกเข้าร่วมเลย ส่วนญี่ปุ่นก็ถอนทีมไม่นานก่อนวันเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่ากลัวบรรยากาศทางการเมืองในกัมพูชา
ขณะเดียวกัน เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ ANFREL ออกแถลงการณ์ว่า ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับการอบรม โดยผู้สังเกตการณ์ชาวกัมพูชา 80,000 คน ที่กกต.คัดเลือกมา ไม่มีความเป็นอิสระ และไม่มีทักษะในการประเมินการเลือกตั้งอย่างอิสระและน่าเชื่อถือเลย
ด้านทำเนียบขาวของสหรัฐฯ แถลงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อบกพร่อง และสหรัฐฯ จะพิจารณาเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลของนายฮุน เซน จากเดิมที่สหรัฐฯ ประกาศไม่ให้วีซ่าเดินทางกับคนในรัฐบาลกัมพูชาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2560
ที่มา: Reuters, Channel News Asia, Asian Correspondent, The Wall Street Journal
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :