ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิฯ-กลุ่มสังเกตการณ์เลือกตั้ง-เครือข่ายนักกฎหมายระบุ กัมพูชากำลังมุ่งหน้าสู่เผด็จการ หลังปรับแก้ กม.- จับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐ - ปิดกั้นสื่อ พร้อมเรียกร้องนานาชาติคว่ำบาตรการเลือกตั้งกัมพูชาวันที่ 29 ก.ค. เพราะไม่เสรี - ไม่เป็นธรรม

ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ 3 แห่ง พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมแถลงข่าวการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเมืองและการเลือกตั้งในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 29 ก.ค.นี้ โดยระบุว่าการเลือกตั้งจะไม่ได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลกัมพูชามีพฤติกรรมหลายประการที่บ่งชี้ว่าไม่เคารพในหลักนิติรัฐและเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคอื่นๆ ที่เห็นต่างจากรัฐบาลได้ลงสมัครแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ประจำภาคพื้นเอเชีย ระบุว่า สิ่งที่จะได้เห็นในวันที่ 29 ก.ค. ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นงานศพครั้งสุดท้ายของประชาธิปไตยในกัมพูชา เพราะช่วงสองปีที่ผ่านมา ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และพรรครัฐบาลซีพีพีได้ปราบปรามภาคประชาสังคมและพรรคฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น โดยอ้างว่าเป็นการรักษาความสงบในประเทศ 

รอง ผอ. HRW ระบุว่าการเลือกตั้งกัมพูชาในครั้งนี้จะแตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 เพราะรัฐบาลกัมพูชาได้พิจารณาปรับแก้และบังคับใช้กฎหมายใหม่หลายฉบับเพื่อปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านไม่ให้ลงสมัครได้ ทั้งยังไม่สนใจการคว่ำบาตรขององค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ

เปรียบเทียบเลือกตั้งมาเลเซีย-กัมพูชา 'ประชาธิปไตยจะชนะ?' 

จันดานี วาตาวาลา ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศ ประกาศว่าอันเฟรลไม่ขอเข้าร่วมตรวจสอบและสังเกตการณ์การเลือกตั้งกัมพูชาในครั้งนี้ เพราะบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งไม่มีความเป็นธรรม โปร่งใส ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลถูกปิดกั้นเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมือง ส่วนองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกา ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งกัมพูชาไปก่อนหน้านี้แล้ว 

FCCT-เสวนาเลือกตั้งกัมพูชา

วาตาวาลา ระบุด้วยว่า กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศกัมพูชาที่รัฐบาลระบุว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งในวันที่ 29 ก.ค. เป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพรรครัฐบาลซีพีพีและฮุน มานี ประธานสมาพันธ์ยุวชนแห่งชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นบุตรชายของฮุน เซน

ด้านชาร์ลส์ ซันติอาโก ส.ส.มาเลเซีย และสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) เปรียบเทียบการเลือกตั้งในมาเลเซียเมื่อ 2 เดือนก่อนว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงทางการเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซ่ึงประชาชนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สามารถทำให้อดีตรัฐบาลที่สกปรกฉ้อฉลหลุดพ้นจากตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยก็จะชนะ

อย่างไรก็ตาม ซันติอาโกมองว่าการเลือกตั้งมาเลเซียกับกัมพูชานั้นแตกต่างกัน เพราะพรรครัฐบาลกัมพูชามุ่งมั่นที่จะเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการ ทั้งยังจัดการเลือกตั้งในบรรยากาศที่มีการกดขี่และปิดกั้นเสรีภาพ และทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าพรรครัฐบาลจะเป็นผู้คุมเกมทั้งหมดไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่เป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ จะต้องร่วมกันกดดันกัมพูชาอย่างหนัก 

ซันติอาโกระบุด้วยว่า กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องไม่แสดงความยินดีกับการเลือกตั้งกัมพูชา เพราะต้องระลึกอยู่เสมอว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีการใช้อำนาจศาลยุบพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล รวมถึงมีการไล่ปราบปรามจับกุมผู้เห็นต่าง ประชาคมโลกจึงควรจะต้องพร้อมใจกันคัดค้านการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งไม่มีทางจะดำเนินไปอย่างเป็นธรรมและโปร่งใสได้

ขั้วอำนาจแบ่งข้าง-กัมพูชาผนึกกำลัง 'จีน-รัสเซีย'

ทางด้านแซม ซาริฟี ผู้อำนวยการคณะกรรมการนักนิต��ศาสตร์สากล (ICJ) ระบุว่า การเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในกัมพูชาเมื่อปี 2557 แต่ในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงในแง่บริบททางสังคม รัฐบาลกัมพูชาสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับเป็นอาวุธปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทั้งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายต่อต้านการรายงานข่าวปลอม และกฎหมายที่ระบุว่าพลเมืองจะต้องจงรักภักดีต่อมาตุภูมิ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากัมพูชากำลังมุ่งหน้าสู่ความเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ 

FCCT-แซม ซาริฟี-ICJ

ซาริฟีระบุว่า ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้กัมพูชามุ่งหน้าไปในทิศทางตรงกันข้ามกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถปกป้องประชาชนได้ แต่กลายเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชน ประชาคมโลกจึงจะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อกัมพูชา ต้องกดดันให้กัมพูชากลับไปยึดมั่นในหลักนิติรัฐ โดยจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าจะไม่สนับสนุนการเลือกตั้งครั้งนี้ในกัมพูชา โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ หรือผู้บริจาคเงินให้กับกัมพูชา เช่น สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น 

ซาริฟี ระบุด้วยว่า ท่าทีของกัมพูชาที่หันไปพึ่งพารัฐบาลจีนและรัสเซียเรื่องการจัดเลือกตั้งและรักษากระบวนการทางประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่น่าตลก เพราะทั้งสองประเทศไม่รู้จักการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ควรจะมีบทบาทมากกว่านี้ในเวทีโลก เพื่อกดดันให้กัมพูชาคำนึงถึงหลักประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่

ขณะเดียวกัน ซาริฟีระบุว่า ยูเอ็นควรเลิกเสแสร้งว่าองค์กรของตนมีเป้าหมายเพื่อปกป้องหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เพราะแท้จริงยูเอ็นเป็นองค์กรทางการทูต ไม่ได้อุทิศตัวให้กับหลักการสิทธิมนุษยชนเต็มที่ เพราะไม่ได้คิดที่จะกดดันประเทศที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด เห็นได้จากการที่ยูเอ็นไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งกัมพูชาในครั้งนี้มากนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: