ไม่พบผลการค้นหา
ครม. รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2565 ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 2,531,656 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.57 จากปีก่อน

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ ( 28 มีนาคม 2566) รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 


ภาคงบประมาณ 
  • สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายได้  

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 2,531,656 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.57 จากปีก่อน มาจากกลุ่มรายได้ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจสูง กลุ่มรายได้ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและกลุ่มรายได้จากการค้าระหว่างประเทศขยายตัวจากปีก่อน อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 (COVID-19) ทั้งนี้ มุมมองความเสี่ยงด้านรายได้ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน 

  • สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายจ่าย    

วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.66 จากปีก่อน ขณะที่รายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.72 สาเหตุสำคัญมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ปรับตัวลดลง และการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันจากการดำเนินนโยบายในอดีต และรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ ส่งผลรายจ่ายลงทุนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 19.74 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ แนวโน้มความเสี่ยงด้านรายจ่ายในระยะปานกลางจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับปกติ 

  • สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง  

ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 624,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากการเกินดุลเงินสดของภาคงบประมาณเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 สะท้อนถึงสภาพคล่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงอยู่ในระดับบริหารจัดการได้

  • สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านหนี้  

ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 10,373,937.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.41 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา 

2. ความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ

2.1 เงินกองทุนประกันสังคมปรับลดลงจากปีก่อน จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ลดลง และการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 รวมทั้ง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้จำนวนผู้ประกันตนวัยแรงงานเข้าสู่ระบบลดลงด้วย

2.2 การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และการเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้กับสมาชิกในปี 2566 อาจทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงในการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนต่างผลตอบแทน หาก กอช. ไม่สามารถบรรลุอัตราผลตอบแทนตามที่รับประกันไว้

2.3 ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบจำนวนมาก จากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนต้องจ่ายเงินอุดหนุนชดเชยราคาก๊าซ LPG และราคาขายปลีกดีเซล เพื่อพยุงราคาในประเทศไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะคลี่คลายลง และกองทุนจะสามารถชำระหนี้คืนได้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคต

2.4 ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปีบัญชี 2565 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมลดลง โดยสาเหตุสำคัญมาจากรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าผัน แปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการและประชาชน

2.5 ฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial:SFIs) ภาพรวมยังคงอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ควรติดตามระดับหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากการด้อยคุณภาพลงของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่สิ้นสุดลงในปี 2565 

2.6 ฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมอยู่ในระดับแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรฐานสากล และคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ 2565 ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการคุณภาพหนี้

2.7 ภาคประกันภัยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 โดยยอดเงินขอรับชำระหนี้อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินกองทุนประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินของกองทุนประกันวินาศภัยเป็นไปในลักษณะของการทยอยจ่าย จึงทำให้กองทุนยังสามารถบริหารจัดการยอดขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ และเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในวงจำกัด

2.8 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปรับตัวดีขึ้นในปีงบประมาณ 2565 อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ อปท. มีรายได้จากภาษีที่ดินฯ ลดลง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานความเสี่ยงทางการคลัง รัฐบาลสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการคลังในปีงบประมาณต่อไปได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลังและงบประมาณ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและ ภาคธุรกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่การก่อหนี้กว่าร้อยละ 70 ยังเป็นหนี้เพื่อการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อการเติบโตอย่ายั่งยืน ซึ่งบางประเทศยังนำแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นโมเดลในการพัฒนาประเทศด้วย


ครม.รับทราบการเงินรวมภาครัฐ รายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนีั้คณะรัฐมนตรี ยังรับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8,424 หน่วยงาน จากทั้งหมดจำนวน 8,443 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 99.97 สรุปได้ ดังนี้ 

(1) รายงานการเงินรวมภาครัฐ สินทรัพย์ 34.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.96 ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ รองลงมาเป็นเงินลงทุน ระยะยาวและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ หนี้สิน  26.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.73 เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมและการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในส่วนของรายได้ 8.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.61 เนื่องจากมีรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้น เช่น การจัดเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าใช้จ่าย 8.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

(2) รายงานการเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ (ไม่รวมรัฐวิสาหกิจและ อปท.) สินทรัพย์ 16.75 ล้านล้านบาท ลดลง ร้อยละ 1.20 ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ที่มีจำนวนลดลง จากการใช้งานในรูปแบบของค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ของหน่วยงาน    หนี้สิน 12.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563

และ พ.ร.ก กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564  ในส่วนของรายได้ 3.45 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.32 เนื่องจากรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดลง  ค่าใช้จ่าย 4.21 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.49 เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนอื่นและการบริจาค และค่าใช้จ่ายอื่น เช่น สวัสดิการสังคมและเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย 

(3) รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ  

 สินทรัพย์ 18.42 ล้านล้านบาท เพิ่มร้อยละ 5.08 เนื่องจากสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของ ธ. กรุงไทย และ ธ. ออมสิน  หนี้สิน 15.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79  เนื่องจากหนี้สินของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของ ธ. กรุงไทย และ ธ. ออมสิน ในส่วนของรายได้ 5.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.41 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ส่งผลให้ รัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่าย 4.73 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.98 เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้น จากการขายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 

(4) รายงานการเงินรวมของ อปท. สินทรัพย์ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.18 ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน  หนี้สิน 0.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 ส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้สินของ กทม. จากโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียวและเงินรับฝากระยะสั้น ในส่วนของรายได้ 0.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.89 เนื่องจากรายได้ของ อปท. เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราปกติ ค่าใช้จ่าย 0.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.11 โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าบำเหน็จบำนาญ และค่าใช้จ่ายสวัสดิการของรัฐ 

สำหรับหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ส่งรายงานการเงิน คณะรัฐมนตรีให้จัดส่งรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ครม. มีมติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ พบว่า สัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้รวมของปีงบประมาณ 2565 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ร้อยละ 17.61 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 โดยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานของรัฐและรายได้แผ่นดิน