เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ในฐานะผู้ร้อง ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ทั้งนี้ศาลได้มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงเห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ โดยวินิจฉัยข้อโต้แย้งของนายธนาธร ผู้ถูกร้อง ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 กกต. ทำหน้าที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งประการแรกว่า กระบวนการไต่สวน และการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนั้น เห็นว่า มาตรา 84 วรรคสี่ มาตรา 82 วรรคสี่ ได้บัญญัติให้ กกต. มีหน้าที่ และอำนาจ ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส. มีเหตุสิ้นสุดลง ตามมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ซึ่ง กกต. ได้มีมติที่ประชุม ครั้งที่ 63/2562 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 และวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 อนุ 6 ประกอบ มาตรา 98 อนุ 3 และได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การยื่นคำร้องของผู้ร้อง จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว
2.วี-ลัค เป็นสื่อ - ชี้ไม่ได้ยกเลิกจดแจ้งการพิมพ์ -ยังไม่เลิกบริษัท
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกร้องได้โต้แย้งว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนนั้น
ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ และการจดแจ้งการพิมพ์ เป็นหลักฐานให้ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชน ที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้อง ดำเนินคดี ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวกระทำผิดกฎหมาย อันเนื่องมาจากเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
ศาลให้เหตุผลว่า โดยมาตรา 4 ได้นิยามความหมายว่า "หนังสือพิมพ์" หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือ เจตนาจะออกตามลําดับเรื่อยไป มีกําหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทํานองเดียวกัน และในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นภายในราชอาณาจักรต้องจดแจ้งการพิมพ์ตาม บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 18 บัญญัติว่า ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเลิก เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
ศาลพิจารณา ข้อเท็จจริงปรากฏในเอกสารสำนวนว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเดิม ชื่อบริษัท โซลิด มีเดีย จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์ข้อ 23 คือประกอบกิจการออกสิ่งพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์จำหน่าย และข้อ 25 ประกอบกิจการโฆษณา ด้วยสื่อการโฆษณาทุกอย่าง เช่น โฆษณาในหนังสือพิมพ์ แผ่นป้ายโฆษณา หนังสือพิมพ์ ใบปลิว กระจายเสียงผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โทรเลข เคเบิ้ลทีวี โทรสาร การสื่อสารด้วยระบบดาวเทียม และ สื่ออื่นใด ซึ่งปรากฏในเอกสาร และแบบแสดงรายการประกอบธุรกิจของ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ระบุว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือ เพื่อการจำหน่าย และบริษัทโซลิด มีเดีย ประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 11 ตามเอกสารหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2551 และทะเบียนที่ลงวันที่ 17 พ.ย. 2553 ซึ่งปรากฏตามสำเนาหนังสือ ของสำนักห้องสมุดแห่งชาติ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2562
นอกจากนี้ แบบนำส่งงบการเงิน ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในรอบบัญชีสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2559 วันที่ 31 ธ.ค. 2560 และวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ก็ระบุว่า บริษัทมีรายได้ จากการให้บริการโฆษณา ประกอบกับไม่ปรากฏหลักฐานว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้จดแจ้ง ยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 18 ก่อนวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อ
แม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ปิดกิจการโดยการยุติการผลิตนิตยสาร และเลิกจ้างพนักงานบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 เป็นต้นมา รวมทั้งได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เรื่องปิดกิจการชั่วคราว ในวันที่ 31 ม.ค. 2562 ก็ตาม แต่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก็ยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ ตราบที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท และจดแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงยังคงเป็นบริษัท ที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน อยู่ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ต่อผู้ถูกร้อง โดยมีรายชื่อผู้ถูกร้อง ในรายชื่อลำดับที่ 1
3.โอนหุ้นวันที่ 8 จริงหรือไม่?
ข้อโต้แย้งประการที่สาม วันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 นายธนาธร มิได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ เพราะโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นางสมพร มารดา ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ในวันรับสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายื่อของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 6 ก.พ. 2562 ผู้ถูกร้อง (นายธนาธร) ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพราะได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นมารดาของผู้ถูกร้อง ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 นั้น เห็นว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ได้แก่ สำเนาแบบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเพทมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2558
ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หมายเลขหุ้น 1350001 -2025000 จำนวน 675,000 หุ้น ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2558 จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 จึงได้มีการส่งสำเนาแบบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ระบุ หุ้นหมายเลขดังกล่าว ว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้น ผู้ถูกร้องชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาว่า ตนได้โอนหุ้นบริษัทดังกล่าว ให้แก่ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้น โดยมีชื่อของ น.ส.ลาวัณย์ และ น.ส.กานธิตา เป็นพยานตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 กำหนด และมีการจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้น 6,750,000 บาท ปรากฏตามสำเนาเช็ค ลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 สั่งจ่ายชื่อผู้ถูกร้อง
ต่อมามีการโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่นายทวี จรุงสุทธิพงษ์ และนายจรูญมีการโอนคืนในนางสมพร ในวันที่ 21 มี.ค. 2562 โดยไม่มีค่าตอบแทนในการโอน ข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในพยานหลักฐานข้างต้น
ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นของผู้ถูกร้อง จำนวนดังกล่าว ไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 จริงหรือไม่ กล่าวคือ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้มีหนังสือส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยเร็วเป็นปกติ ทุกครั้ง ดังเห็นได้จาก หนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ 18 ก.พ. 2552 ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น ในวันประชุม วิสามัญ ครั้งที่1/2552 เมื่อ 16 ก.พ. 2552 หนังสือบริษัทวี-ลัค มีเดียจำกัด ซึ่งส่งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น ในการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นการโอนหุ้นของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้กับผู้ถูกร้อง และหนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ 21 มี.ค. 2562 ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น โดยคัดจาดสมุดบัญชีทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 แต่การโอนหุ้นของผู้ถูกร้อง ให้แก่นางสมพร ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 กลับไม่ปรากฏการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างใด ทั้งที่การส่งสำเนาผู้ถือหุ้นดังกล่าว จะเป็นหลักฐานสำคัญ หากผู้ถูกร้อง มีความประสงค์เข้าสู่การเมือง
"การที่ไม่มีการส่งสำเนาทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้น ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วน จึงเป็นการผิดปกติ ที่เคยปฏิบัติมา ทั้งๆ ที่การโอนหุ้นครั้งนี้ มีความสำคัญ ต่อการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกร้องอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ได้โอนไปก่อนวันที่ผู้ถูกร้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมทำให้ผู้ถูกร้อง มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แม้ผู้ถูกร้องให้เหตุผลในการไม่ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ทันทีภายหลังจากที่มีการโอนหุ้นดังกล่าวว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย ได้มีการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2561 จึงไม่มีนักบัญชีที่คอยติดตามจัดการเอกสารทางทะเบียน ประกอบกับการโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. 2562 เป็นการโอนหุ้นภายในครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ ขัดแย้งกับการให้ปากคำของ น.ส.ลาวัณย์ พยานบุคคล ที่ว่าตนสามารถทำได้ ถ้ามีคำสั่งให้ทำ ซึ่ง น.ส. ลาวัณย์ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น"
ประกอบกับในทางปฏิบัติ การยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แบบ บอจ.5 นั้น สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่น ไปดำเนินการได้ และการยื่นเอกสารดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยไม่มีความยุ่งยากประการใด เพราะบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ใช้วิธีส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบดุลประจำปี ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนกรุงเทพมหานคร ทางอิเล็กโทรนิกส์ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2561
ขึ้นเช็คล่าช้า ศาลย้อนดูพฤติกรรมขึ้นเช็คก่อนหน้า ผิดปกติวิสัย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยต่อว่า นายธนาธร ผู้ถูกร้อง อ้างว่า นางสมพร ได้ชำระค่าหุ้น ให้แก่ผู้ถูกร้อง ด้วยเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด มหาชน สั่งจ่ายนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งปรากฏว่ามีการนำฝากเข้าบัญชี วันที่ 16 พ.ค. 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ผู้ถูกร้อง ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ผู้ร้องได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเป็นระบะเวลานานถึง 128 วัน หลังจากวันที่ระบุในเช็ค ทั้งที่กฎหมายที่เกี่ยวกับเช็ค คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 ให้ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น"
กล่าวคือ สถานที่ออกเช็ค และธนาคารตามเช็คอยู่คนละจังหวัดกัน โดยคดีนี้ธนาคารตามเช็คที่มีหน้าที่จ่ายเงินคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขา ถนน บางนา-ตราด เซนทรัลซิตี้ อยู่ในกรุงเทพมหานคร และถ้าไม่ระบุที่ออกเช็ค ต้องถือว่าออกเช็ค ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย คือนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงมีหน้าที่นำเช็คดังกล่าว ไปเรียกเก็บเงินภายในวันที่ 8 ก.พ. 2562 แม้ผู้ถูกร้องอ้างว่ามีการนำเช็คเรียกเก็บเงินล่าช้าเช่นนี้เป็นประจำ แต่เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไป 3 ปี พบว่า การเรียกเก็บเงินตามเช็ค จำนวนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ในระหว่างปี 2560 - 2562 นั้น มีการเรียกเก็บเงินตามเช็ค หลังจากวันที่ ที่ลงในเช็คประมาณ 42-45 วัน
"เช็คในวันที่ 8 ม.ค. 2562 กลับใช้เวลาถึง 128 วัน จึงแสดงให้เห็นว่า การนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน จากธนาคาร มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งนางริวพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาของผู้ถูกร้อง เบิกความว่า ช่วงนั้นตนไม่ประสงค์ ตนไม่สะดวก ที่จะนำเช็ค ไปเรียกเก็บเงิน เนื่องจากต้องดูแลบุตร ที่ยังเป็นเด็กทารก นอกจากนั้นในช่วงเดือน ก.พ. 2562 มีข่าวว่าผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาว่า ไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นกันจริง มีการนำเช็คไปให้ปากคำกับผู้ร้อง ทั้งในเดือน เม.ย. และได้รับกลับคืนมาในเดือน พ.ค. 2562"
ศาลมองว่า ถ้อยคำดังกล่าว มีการขัดแย้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่านางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ สามารถนำเช็คฝากเข้าบัญชีได้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2562 แล้ว ข้ออ้างเรื่องการไม่นำเช็ค ไปขึ้นตามปกติ จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้
นอกจากนั้น การนำเช็คไปขึ้นเงิน ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนตนได้ ดังนั้น ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นู้ทรงเช็ค วามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจคนเดียวเท่านั้น และไม่ต้องรอเวลาถึง 4 เดือนเศษ
ประเด็นโอนหุ้นให้หลานชาย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยต่อ ในประเด็นที่นางสมพร โอนหุ้นให้แก่นายทวี หลานชาย แล้วต่อมาได้โอนกลับคืนนางสมพรนั้น ศาลเห็นว่า การโอนหุ้นให้และการโอนหุ้นคืน โดยไม่มีค่าตอบแทนตามที่อ้างความสัมพันธ์เครือญาติ ย้อนแย้งกับการโอนหุ้นให้กับนายธนาธรซึ่งบุตร แม้นางสมพร จะเบิกความว่า ต้องการให้นายทวีเข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการ แต่การโอนหุ้นโดยไม่มีค่าตอบแทนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะเอกสารต่างๆบริษัทวี-ลัคมีเดีย สามารถจัดการได้เองในภายหลัง อีกทั้งการโอนหุ้นคืนภายในเวลา 2 เดือนเศษ โดยอ้างว่าศึกษาแล้วต้องใช้เงินลงทุนอีกหลายล้านบาท ข้อเท็จจริงส่วนนี้ขัดกับปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป ที่ต้องศึกษาแผนและทดลองปฏิบัติตามแผนเสียก่อน
และเมื่อเทียบกับสถานะทางเศรษฐกิจของนางสมพรแล้ว การอ้างว่ากิจการ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีหนี้สิน 10 ล้านบาท ก็ต่างจากการงบดุลที่นำส่ง โดยแจ้งว่ามีลูกหนี้เพียง 2 ล้านบาทเศษ จำนวนเงินดังกล่าวไม่ตรงกัน หนี้สินจำนวนไม่มาก การทวงถามและวิเคราะห์โครงสร้าง สามารถให้ทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นให้หลานก็ได้ เพราะการเป็นผู้ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจบริหาร ติดตามหนี้สิน หรือบริหารเงินสด การที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าโอนหุ้นกันในวันที่ 8 ม.ค. 2562 โดยมีพยานบุคคลกลุ่มเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆแล้ว เห็นว่าล้วนเป็นการกล่าวอ้างเพียงให้เจือสมกับหลักฐานที่ปรากฏตาม บอจ. 5 ที่โอนหุ้นกลับคืนจากนายทวี
4.ข้อโต้แย้งเรื่องการเดินทาง ฟังไม่ขึ้นว่าโอนหุ้นแล้ว
และ ข้อโต้แย้งเรื่องการการเดินทางกลับจากการปราศรัยใน จ.บุรีรัมย์ มายังบ้านพักในกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 เพื่อโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ให้กับนางสมพรนั้น แม้จะฟังได้ว่าเดินทางกลับมาจริง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า นายธนาธรอยู่ใน กรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนหุ้นในวันดังกล่าวจริง
การโอนหุ้นต้องพิจารณาจากหลักฐานทั้งปวง แม้ผู้ถูกร้องจะมีพยานหลักฐานมาแสดง แต่การโอนหุ้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อต้องจดแจ้งต่อนายทะเบียน
"กรณีจึงมีข้อพิรุธหลายจุด หลายประการ สอดรับแน่นหนาจากพฤติการณ์แวดล้อมมากกว่าพยานของผู้ถูกร้อง และมีน้ำหนักหักล้างพยานของผู้ถูกร้อง ฟังได้ว่านายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลได้สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่"
และให้ถือว่าวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเลื่อนรายชื่อ ส.ส.ในลำดับถัดไปแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 7 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง