ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งในสหรัฐฯ ยื่นฟ้องเฟซบุ๊กข้อหาละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หลังผู้บริหารเฟซบุ๊กยอมรับว่าถูกแฮกเกอร์อาศัยช่องโหว่ของระบบเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก

เว็บไซต์บลูมเบิร์ก สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ รายงานว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งข่าวไม่ระบุชื่อ ยื่นฟ้องศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อดำเนินคดีเฟซบุ๊กในข้อหาละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยระบุว่าเป็นผู้หนึ่งได้รับผลกระทบจากระบบการทำงานของเฟซบุ๊ก ที่เปิดช่องให้แฮกเกอร์เจาะระบบเข้าไปควบคุมบัญชีผู้ใช้กว่า 50 ล้านคนทั่วโลก 

การฟ้องร้องดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากที่ 'มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก' ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก และ 'กาย โรเซน' รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก แถลงเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) ว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการกระทำของ 'ผู้ไม่ประสงค์ดี' ซึ่งโจมตีระบบของเฟซบุ๊ก และขโมย 'โทเค็นการเข้าถึง' ของเฟซบุ๊กไปใช้งาน แต่ทางเฟซบุ๊กได้เร่งแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้ นับจากวันที่ทราบเรื่องครั้งแรกเมื่อ 25 ก.ย.เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กอธิบายว่า 'โทเค็นการเข้าถึง' เปรียบเหมือน 'กุญแจดิจิทัล' ที่ผู้ไม่ประสงค์สามารถนำไปใช้ควบคุมบัญชีผู้ใช้ของผู้อื่นได้ เฟซบุ๊กจึงดำเนินการป้องกันความปลอดภัยด้วยการนำผู้ใช้ออกจากระบบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กโดยอัตโนมัติ เพื่อสกัดผู้ไม่ประสงค์จากการเข้าถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้ ส่วนผู้ที่ได้รับการกู้คืนบัญชีจะได้รับข้อความแจ้งเตือนและชี้แจงรายละเอียดจากเฟซบุ๊ก

การฟ้องร้องเฟซบุ๊กครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา 'เซเลนา สโกลา' อดีตพนักงานตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก ได้ยื่นฟ้องร้องบริษัทมาก่อน โดยระบุว่า เฟซบุ๊กไม่ป้องกันพนักงานซึ่งต้องดูภาพและวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงทุกวัน เพื่อพิจารณาว่า เนื้อหาใดที่ละเมิดเงื่อนไขการใช้เฟซบุ๊กหรือไม่ ทำให้เธอได้รับบาดแผลทางจิตใจ และมีอาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีพนักงานตรวจสอบเนื้อหาอย่างน้อย 7,500 คน และมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊กอยู่แล้ว ทั้งการรับคำปรึกษาและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ฝึกฝนให้สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นของ PTSD ได้ แต่เฟซบุ๊กละเลยการตรวจสอบว่ามาตรการความปลอดภัยในการทำงานของตัวเองนั้นได้รับการปฏิบัติตามหรือไม่

สโกลา ระบุด้วยว่า เฟซบุ๊กไม่มีการจัดอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยให้แก่พนักงานอย่างเพียงพอ ทำให้พนักงานตรวจสอบเนื้อหาต้องดูโพสต์ที่มีเนื้อหารุนแรงวันละหลายพันโพสต์ โดยที่ไม่ค่อยรู้ว่าจะต้องรับมือกับความเครียดที่ตามมาอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :