วันนี้ (30 ส.ค. 2561) ที่กระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ศธ., นางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้การต้อนรับและหารือกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา
รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 1137/2561 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) เพื่อให้การดำเนินงานของ ศธ. เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 เห็นชอบให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อนำหลักสูตรดังกล่าวไปปรับใช้ในโครงการ หรือหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ หรือพนักงานที่บรรจุใหม่ โดยให้ครอบคลุมถึงบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ หรือผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาที่เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดหรือประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการให้ ศธ.เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ตำราเรียน ครู รายละเอียดของหลักสูตรใช้ในสถานศึกษา
การหารือร่วมกันกับคณะกรรมการ ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการจากบุคคลหลายฝ่ายที่สังคมให้การยอมรับในเรื่องการปฏิรูปประเทศและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เข้ามาเป็นกรรมการ อาทิ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ, นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา, รศ.ต่อตระกูล ยมนาค, นายบัณฑิต นิจถาวร, รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก, รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์, นายจักรธรรม ธรรมศักดิ์, นายปราโมทย์ โชติมงคล, รศ.ปภัสวดี วีรกิตติ ฯลฯ รวมทั้งหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ศธ. ซึ่งเป็นเลขานุการ
ผลการหารือร่วมกันเป็นครั้งแรกนี้ มี 3 ประเด็นหลักที่สำคัญต่อการวางแนวทางการทำงาน คือ
1. กำหนดทิศทางหลักสูตรให้ชัดเจน โดย ศธ.เสนอแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ว่าควรกำหนดทิศทางของหลักสูตรให้ชัดเจน มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากในระยะยาวถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร แต่หลักสูตรจะต้องคงอยู่และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
2. เหรียญ 2 ด้าน ศีลและธรรม เรื่องคุณธรรมกับเรื่องการต่อต้านการทุจริตนั้น ควรมองแบบเหรียญคนละด้าน หรือเปรียบเทียบเหมือน "ศีลกับธรรม" คือ ไม่ใช่ทำความดีแล้วจึงมาละเว้นความชั่ว แต่ควรคิดว่าต้องละเว้นความชั่วให้ได้ก่อน แล้วจึงทำความดี ดังนั้น การละเว้นการกระทำที่ไม่ดี คือเริ่มจากการมีคุณธรรมนำชีวิตมาก่อน
3. หลักสูตรเน้นสอนจากพื้นฐานประสบการณ์จริง การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ขอให้เน้นการสอนจากพื้นฐานประสบการณ์จริง เช่น กรณีศึกษาการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้จากกรณีใกล้ตัวจะสามารถสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงผลของการทุจริตได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขณะที่เรื่องเครื่องมือการวัดผลหลักสูตร ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีการสอบข้อเขียน แต่จะใช้วิธีการใดนั้น จะมีการหารือกันในระยะต่อไป
นอกจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ ยังได้เน้นย้ำเกี่ยวกับแนวทางการจัดอบรมครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ด้วยว่าคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาควรดำเนินงานในภาพรวมเชิงนโยบาย จัดทำแนวทางหรือโครงสร้างหลักสูตรการอบรมเตรียมไว้ ส่วนขั้นตอนการจัดอบรมให้ส่งต่อไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายโครงการอบรมเพื่อดำเนินการในส่วนต่อไป โดยจะมีการประชุมติดตามการทำงานร่วมกันครั้งต่อไปภายในเดือนกันยายนนี้