ไม่พบผลการค้นหา
ทั่วโลกจับตาการประชุมสุดยอดผู้นำ 'เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้' ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 เม.ย. นี้ แต่การเจรจาครั้งต่อไปที่จะต้องจับตามองไม่แพ้กัน คือ การพบปะกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งจะจัดขึ้นหลังการประชุมเกาหลีสองฝ่ายสิ้นสุดลง

สำนักข่าวจุงอังของเกาหลีใต้รายงานว่า ภายหลังจากที่การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้สิ้นสุดลง จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือตามมาในเวลาไม่นาน จึงคาดว่าจะต้องมีประเทศที่สาม ทำหน้าที่ตัวกลางอำนวยความสะดวกในการประชุมหารือกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ เนื่องจากเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ไม่มีการสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน 

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า 2 ประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะได้เป็นตัวกลางจัดการเจรจา ได้แก่ มองโกเลียและสิงคโปร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีรายชื่อสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน รวมอยู่ด้วย แต่แหล่งข่าวในรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่านายทรัมป์ไม่ต้องการให้ประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นตัวกลางการเจรจากับเกาหลีเหนือ ทำให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ถูกตัดออกไปเป็นอันดับแรก เพราะทั้งสามประเทศล้วนได้รับผลกระทบจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐ คิมจองอึน ทรัมป์ มุนแจอิน

ส่วนประเทศตะวันตกอย่างสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่นายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มากกว่าเกาหลีเหนือ จึงอาจจะไม่เหมาะกับการเป็นตัวกลางเจรจา

ส่วนมองโกเลียเป็นประเทศที่เหมาะสมเชิงภูมิศาสตร์ เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างจีนกับรัสเซีย ซึ่งล้วนเป็นพันธมิตรของเกาหลีเหนือ แต่นายทรัมป์อาจจะไม่พอใจกับตัวเลือกนี้มากนัก ทำให้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่า

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับเลือกเป็นตัวกลางการเจรจา แต่ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวว่าหากจะมีการเจรจาและไทยเป็นประเทศที่ถูกคัดเลือก อาจจะต้องเตรียมการอะไรมากมาย แต่ตนคิดว่าคงไม่ใช่

ล่าสุด สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าว่า 'สิงคโปร์' น่าจะเหมาะสมกับการเป็นตัวกลางเจรจามากที่สุด เพราะสิงคโปร์ประกาศจุดยืนเป็นกลางในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งยังมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ เพราะเป็นคู่ค้าที่สำคัญ แต่ก็เป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ เป็นอย่างดี และคาดว่าจะมีการประกาศชื่อประเทศที่จะมาเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างสหรัฐ และเกาหลีเหนือจะชัดเจนขึ้นช่วงประมาณต้นเดือน พ.ค. นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: