วันที่ 26 พฤศจิกายน NU.nl บริษัทสื่อสัญชาตินิวซีแลนด์ บริษัทบุคคลที่สามที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฟกนิวส์ให้เฟซบุ๊ก ยุติการเป็นพาร์ตเนอร์กับเฟซบุ๊กแล้ว เนื่องจากไม่พอใจนโยบายที่เฟซบุ๊กจะไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่มาจากนักการเมือง
"การต่อสู้กับเฟกนิวส์จะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบนักการเมือง" เกิร์ต-ยาป ฮุกมัน บรรณาธิการบริหาร ของ NU.nl ระบุ
ข้อพิพาทระหว่างเฟซบุ๊กกับ NU.nl เริ่มขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเฟซบุ๊กแทรกแซงการตัดสินใจของ NU.nl ที่จะขึ้นป้ายเตือนโฆษณาการเมืองจาก เอสเตอร์ เด ลังก์ นักการเมืองชาวเนเธอร์แลนด์ว่าข้อมูลขาดหลักฐานสนับสนุน
ในโฆษณาดังกล่าวเคลมว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรในประเทศโรมาเนียถูกครอบครองโดยผู้ที่ไม่ใช่ชาวยุโรป ทว่า NU.nl ชี้ว่าคำกล่าวนี้ไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้จึงจะทำการขึ้นป้ายเตือน ทว่าเฟซบุ๊กเข้าแทรกแซงการตัดสินใจในครั้งนี้ พร้อมระบุว่าคำกล่าวของนักการเมืองไม่ควรจะถูกตรวจสอบข้อเท็จจริง
นโยบายเกี่ยวกับแนวทางการโฆษณาของเฟซบุ๊กนั้น ห้ามมิให้มีข้อมูลเท็จในโฆษณา และใช้องค์กรบุคคลที่สามในการตรวจสอบสิ่งที่เคลมในโฆษณานั้นๆ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม เฟซบุ๊กได้ยกเว้นโฆษณาจากนักการเมืองออกจากการตรวจสอบตามแนวทางนี้อย่างเป็นทางการ โดยประกาศว่าข้อความจากนักการเมืองนั้นมีคุณค่าข่าว และให้เผยแพร่ได้ภายใต้กฎทั่วไปของเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 นโยบายนี้จึงถูกตั้งคำถามอย่างยิ่งโดยรัฐสภา ทว่าเฟซบุ๊กยังยืนกรานโดยยึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และข้อมูลจากนักการเมืองนั้นได้รับความสนใจโดยสื่อและบุคคลทั่วซึ่งตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว ทุกคนควรได้พิจารณาด้วยตัวเองว่านักการเมืองโกหกหรือไม่ หรือรับรู้ว่านักการเมืองคนใดโกหกในโฆษณา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่า NU.nl มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับเฟซบุ๊ก
"เราคิดว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้หมายถึงเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่าไม่เป็นความจริง" ฮุกมันระบุ
NU.nl นั้นเป็นองค์กรบุคคลที่สามเพียงแห่งเดียวในเนเธอร์แลนด์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เฟซบุ๊ก หลังจากมหาวิทยาลัยไลเดน (Leiden University) ผู้ตรวจสอบอีกรายหนึ่งได้ถอนตัวจากการเป็นพาร์ตเนอร์เมื่อปีก่อน และเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าเฟซบุ๊กจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงโฆษณาการเมือง NU.nl ก็ได้ยุติความเป็นพาร์ตเนอร์เช่นกันหลังตรวจสอบข้อมูลให้เฟซบุ๊กมาราวสองปีครึ่ง
ทางด้านเฟซบุ๊ก ระบุว่าเคารพการตัดสินใจของ NU.nl ในฐานะกิจการอิสระ พร้อมระบุว่ายังมีความสัมพันธ์เป็นพาร์ตเนอร์กับองค์กรอีก 55 รายทั่วโลก ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาใน 45 ภาษา และมีแผนจะขยายโครงการในยุโรป รวมถึงในเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง
สำหรับประเทศไทยนั้น เฟซบุ๊กไม่มีพาร์ตเนอร์องค์กรบุคคลที่สามที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ที่มา: Verge / Dutch News / Gizmodo
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: