การเสด็จเยือนไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือโป๊ปฟรานซิส ในวันที่ 20-23 พ.ย. เป็นการเยือนครั้งที่ 2 ของผู้ดำรงตำแหน่งประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก หลังจากโป๊ปจอห์น ปอล ที่2 ประมุขคริสตจักรพระองค์ที่ 264 เสด็จเยือนไทยเมื่อปี 2527
จูเซปเป โบลอตตา ศาสตราจารย์ด้านศาสนวิทยาในอังกฤษ เผยกับ Aljazeera ว่า โดยปกติแล้วโป๊ปฟรานซิสทรงติดตามประเด็นทางสังคมและเทศนาเรื่องสันติภาพ ต่อต้านความเกลียดชังและความขัดแย้งอยู่เป็นประจำ แต่การเสด็จเยือนไทยครั้งนี้อาจจะไม่ได้ตรัสถึงเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เกี่ยวพันกับผู้นับถือศาสนาอิสลาม
ส่วนข้อความของสำนักวาติกันที่สื่อต่างประเทศอ้างอิง พูดถึงการเสด็จเยือนไทยของโป๊ปฟรานซิสในครั้งนี้ว่ามีที่มาจาก 'ความผูกพันฉันมิตร' (Bond of Friendship) ที่ไทยมีต่อคริสตจักรมาเป็นเวลายาวนาน แม้ว่าประชากรในไทยจะนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ และชาวคริสต์นิกายต่างๆ ในไทยมีจำนวนรวมไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดก็ตาม
ขณะที่ 'ซิสเตอร์อานาโรซ่า' พระญาติของโป๊ปฟรานซิส ซึ่งปัจจุบันเป็นรองอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเซนต์เมรี่ในจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไทยว่า ไม่คาดคิดว่าพระองค์จะเสด็จมาที่ประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่พระองค์จะเสด็จไปยังประเทศที่มีปัญหา หรือมีเหตุการณ์สำคัญ ส่วนครั้งนี้เป็นการฉลองครบรอบ 350 ปีชาวคาทอลิกในไทย และในโอกาสปีแห่งมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10
โป๊ปฟรานซิส หรือที่ชาวคาทอลิกในไทยนิยมเรียกว่า 'โป๊ปฟรังซิส' พระนามเดิม 'ฆอร์เฆ หลุยส์ บอร์เกกลีโอ' ทรงเป็นชาวอาร์เจนตินา และเป็นประมุขคริสตจักรพระองค์แรกที่มาจากประเทศแถบลาตินอเมริกา เคยศึกษาด้านเคมีในระดับปริญญาตรี ก่อนจะปฏิญาณตนเป็นนักบวชนับตั้งแต่ปี 2501 เป็นต้นมา
พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระคาร์ดินัล อัครมุขนายกแห่งบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา ก่อนที่คณะคาร์ดินัล 115 รายจะลงมติเลือกให้พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 266 แทน 'โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16' ซึ่งสละตำแหน่งเมื่อปี 2556
หลังจากรับตำแหน่ง โป๊ปฟรานซิสทรงเทศนาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงแนวคิด ตลอดจนธรรมเนียมเก่าแก่ในคริสตจักร และทรงมุ่งมั่นในการตรวจสอบแก้ไขความผิดพลาดของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินบริจาคและทรัพย์สินของสำนักวาติกัน และการหาทางเยียวยาผู้ที่เคยถูกบาทหลวงและผู้เกี่ยวข้องกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกล่วงละเมิดทางเพศ
สื่อบางแห่งเรียกพระองค์ว่า 'โป๊ปนักปฏิวัติ' ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ถูกมุขนายกที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมจำนวนมากในวาติกันเขียนจดหมายเปิดผนึกวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงชาวคริสต์บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโป๊ปฟรานซิส
สิ่งที่โป๊ปฟรานซิสทรงริเริ่มและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในคริสตจักรที่มีผู้กล่าวถึงมากที่สุด เริ่มจากการประกาศให้บาทหลวงให้อภัยบาปจากการทำแท้งได้เมื่อปี 2559 โดยทรงระบุว่าศาสนาคริสต์สอนให้เมตตาและมอบโอกาสแก่ผู้ที่เคยกระทำผิด ซึ่งถือว่าแตกต่างจากวัตรปฏิบัติของโป๊ปพระองค์ก่อนอีกหลายพระองค์ที่มักย้ำว่าการทำแท้งคือความผิดบาป แต่ไม่เคยมีผู้ที่ตรัสถึงการให้อภัยมาก่อน
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรณรงค์ให้ชาวคริสต์และประชากรโลกตระหนักถึงอันตรายของวัตถุนิยม ความเกลียดชังและอคติที่มีต่อความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นำไปสู่ความยากจน โดยพระองค์ได้รับการยกย่องว่า 'ติดดิน' เพราะไม่นิยมใช้วัตถุหรูหราหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งราคาแพงๆทั้งยังทรงเคยตกเป็นข่าวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2560 เนื่องจากทรงไม่ยอมรับรถซูเปอร์คาร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีที่มีผู้ถวายให้ แต่ทรงให้องค์กรการกุศลนำของบริจาคทั้งหมดไปประมูลเพื่อนำไปใช้เป็นทุนทำงานต่อไป
ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โป๊ปฟรานซิสประกาศยกเลิกกฎระเบียบของวาติกันที่ห้ามชายที่เคยแต่งงานบวชเข้าสู่คริสตจักรโรมันคาทอลิก และเป็นกฎที่บังคับใช้มานานราว 1,000 ปี สืบเนื่องจากที่พระองค์รับคำร้องเรียนจากมุขนายกในประเทศลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ซึ่งกังวลว่าประชากรบาทหลวงคาทอลิกกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเสนอว่า การยกเลิกกฎห้ามชายที่เคยแต่งงานบวชจะช่วยเพิิ่มจำนวนบาทหลวงให้มากขึ้นได้ในอนาคต
ส่วนปีที่แล้ว โป๊ปฟรานซิสทรงสวดมนต์ให้สมาชิกทีมหมูป่าทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ให้สามารถออกมาได้อย่างปลอดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: