อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ และปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตน เป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
โดยในครั้งนี้จะมีผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จำนวน 2 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว คือ ผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ และผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี รวมถึงผู้พิการ ผู้ที่เป็นโรคร้ายแรง และชราภาพ เป็นต้น และกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ได้แก่ ผู้ต้องราชทัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มแรก โดยจะได้การลดโทษในอัตราส่วนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชั้นและฐานความผิด
ในส่วนของผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2563 ฉบับนี้ ประกอบไปด้วย ผู้กระทำความผิดซ้ำและไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม นักโทษเด็ดขาดชั้นต้องปรับปรุงหรือชั้นปรับปรุงมาก นักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา นักโทษเด็ดขาดคดีความผิดฉ้อโกงประชาชน ผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดรายใหญ่ที่พึ่งรับโทษจำคุกภายหลังพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2563 บังคับใช้ และผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ถูกศาลลงโทษประหารชีวิต ที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 5 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป โดยระบุให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้
อายุตม์ กล่าวว่า ในระหว่างที่ผู้ต้องราชทัณฑ์ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ ทัณฑสถานนั้น กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ ทั้งการให้การศึกษา อบรมพัฒนาจิตใจ การฝึกทักษะอาชีพ การแนะแนวการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ที่มีการอบรมในหลักสูตรฝึกปฏิบัติการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้มีความรู้ติดตัว สามารถนำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษได้ อีกทั้ง ยังได้ร่วมกับเครือข่ายภาคสังคม ติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้พ้นโทษ โดยหวังว่าสังคม ตลอดจนผู้ประกอบการ หรือ ห้างร้านบริษัทต่างๆ จะให้โอกาสผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ร่วมให้กำลังใจและเปิดใจยอมรับผู้ก้าวพลาด ให้ได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไม่ให้เขาเหล่านั้นหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก