นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา “ยุทธศาสตร์ชาติกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21” จัดโดยนักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ว่า ทุกประเทศควรต้องมียุทธศาสตร์ แต่ไม่ใช่ใช้ยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือในการจัดการฝั่งตรงข้าม และยุทธศาสตร์จะต้องปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วตามสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยก่อนอื่นต้องให้คนรุ่นใหม่ได้คิดและตัดสินกันว่าทิศทางของประเทศไทยในปัจจุบันมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องหรือไม่ ประเทศไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บริหารมากว่า 5 ปี ทำประเทศเดินหน้าหรือถอยหลัง
โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งสถานการณ์กลับยิ่งย่ำแย่ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง โดยเศรษฐกิจไทยกลับมาทรุดหนักใหม่ ครึ่งปีแรกโตเพียง 2.6% และปีนี้ไม่น่าจะโตถึง 3% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้ง หนี้เสีย และการจ้างงานของนักศึกษาที่กำลังจะจบ อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณที่ย่ำแย่ ซ้ำเติมด้วยสงครามการค้า และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นจากการใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย
ส่วนยุทธศาสตร์ 20 ปี อยากให้แยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือข้อกฏหมายที่กำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มี พลเอกประยุทธ์เป็นประธานพร้อมผู้นำเหล่าทัพ และคนในรัฐบาล สามารถยื่นให้ ปปช. หยุดการดำเนินงานของทุกหน่วยงานรวมถึงรัฐบาลได้ หากเห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งชัดเจนว่ามีจุดประสงค์เพื่อจัดการฝั่งตรงข้าม เพราะปัจจุบันรัฐบาลบริหารประเทศเละซะยิ่งกว่าเละ ทั้งแจกเงิน สะเปะสะปะ ทั้งเศรษฐกิจย่ำแย่ ไม่มีทิศทางที่จะพัฒนาได้ ภาวะสังคมเสื่อมทราม รัฐมนตรีบางคนมีข้อครหา และอาจมีคุณสมบัติต้องห้าม แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์กลับนิ่งเฉย ดังนั้นควรยุบทิ้งและแก้รัฐธรรมนูญในหมวดนี้
ส่วนที่สองในเรื่องเนื้อหานั้นไม่มีอะไรแปลกใหม่ อาศัยการคัดลอกมาจากแนวทางของสภาพัฒน์มาเกือบทั้งหมด สิ่งสำคัญคือแนวคิดและแนวทางปฏิบัติต่างกับที่เขียนไว้อย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยในปัจจุบันไม่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกตามที่เขียนไว้ได้ เพราะพลเอกประยุทธ์ ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ ขนาดเรื่องง่ายๆยังคิดไม่ได้ เช่น ปัจจุบันยังจะกล้าขู่ว่าจะเอาประยุทธ์คนเก่า หรือคนใหม่ แค่นี้ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องยากๆในอนาคตแล้ว อีกทั้ง ยังบ่นอีกว่าไปไหนประชาชนขอแต่เงิน
โดยไม่ได้คิดเลยว่าประชาชนลำบากใช่หรือไม่ถึงต้องขอ และถ้าเดือดร้อนไม่ขอรัฐบาลแล้วจะให้ไปขอใคร อีกทั้งตัวรัฐบาลเองก็แจกเงินสะเปะสะปะมาตลอด พึ่งแจกเงินให้คนเที่ยวเอง ชาวบ้านก็ต้องคิดว่าต้องแจกเงินช่วยเหลืออีกได้ และในขณะประชาชนลำบากในภาคอีสาน แต่นายกกลับบินลงภาคใต้ เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับแนวคิดแปลกประหลาดเช่น น้ำท่วมจะให้เลี้ยงปลา ที่พูดแล้วพูดอีก ซึ่งต้องถามคนอุบลฯ ว่าน้ำท่วมตอนนี้จะเลี้ยงปลาได้หรือไม่ ขนาดน้ำดื่มยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจนต้องออกมาด่าเลย
นอกจากนี้ ต้องถามว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์รวมถึงวุฒิสภาชิกที่เลือกมามีความรู้เรื่อง Ai, Robotic, Blockchain, Cryptocurrency etc ในสัดส่วนแค่ไหนที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ หรือแทบจะไม่รู้กันเลย จากสภาวะที่เป็นอยู่ คนรุ่นใหม่คงจะพอตอบกันได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติจะเขียนให้เลิศหรูอย่างไรก็ได้ แต่ผู้นำจะต้องมีความสามารถทำให้คนเชื่อได้ว่าประเทศกำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างเช่น นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์พูดถึง Design Thinking ที่สร้างแนวคิดที่ดีให้กับประชาชนตามที่ได้ออกแบบไว้ทำให้ประเทศสิงคโปร์พัฒนาก้าวหน้ามาได้
ซึ่งต้องเป็นผู้นำที่ฉลาดและเก่งต่างกับผู้นำของไทยในปัจจุบัน และคนในประเทศควรจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางสมัยใหม่ อย่างเช่นที่การสนทนาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของ นายอีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งเทสล่าและ สเปซ เอ็กซ์ กับ แจ๊ค มา อภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาลีบาบา มากกว่าจะมาแลกเปลี่ยนเรื่องมั่วๆ ของ ธรรมนัส และ เอ๋ ปารีณา เป็นต้น