“ทำไมเราถึงพูดหรือเสวนาทางวิชาการไม่ได้ โดยที่กฎหมายมาห้ามเรา มันค่อนข้างจะกดทับอย่างชัดเจน ตั้งคำถามก็ผิดกฎหมาย สงสัยก็ผิดกฎหมาย”
คำพูดของ คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ โฆษกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ที่ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของประมวลกฎหมายมาตรา 112 ที่ทำให้เขาไม่สามารถตั้งคำถามในห้องเรียนได้อย่างอิสระ
คุณานนต์กล่าวถึงเหตุผลที่ทางกลุ่มต้องออกมาสนับสนุนการยกเลิก ม.112 ว่า เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีปัญหาหลายด้าน ทั้งตัวบทกฎและการบังคับใช้ แถมในช่วงหลังก็ยังถูกนำมาใช้โจมตีนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวอีก สมาชิกในกลุ่มของเขาก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 อยู่หลายคน
“ผมรู้สึกหดหู่ โกรธแล้วก็โกรธอีก ที่เพื่อนโดนมาตราดังกล่าวเพียงเพราะตั้งคำถามต่อสถาบัน” คุณานนต์ กล่าว
เขาเล่าต่อว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้เด็กไทยไม่สามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสถาบันได้อย่างรอบด้าน เนื่องจากไม่สามารถตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ได้ตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย หรือหากนักเรียนตั้งคำถามกับอาจารย์ในห้องเรียน อาจารย์ก็ไม่สามารถที่จะตอบอะไรได้ ซึ่งเขามองว่าเป็นกฎหมายที่ "สร้างวัฒนธรรมการสยบยอมในสังคม"
เช่นเดียวกับ ศรัณย์ สัชชานนท์ นักศึกษานิติศาสตร์ ปี 2 หรือรองประธานสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ออกมาสนับสนุนการยกเลิก ม.112 เพราะเล็งเห็นถึงปัญหาของกฎหมายดังกล่าวที่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ เขามองว่ากฎหมายนี้ทำให้นักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถพูดหรือคิดนอกกรอบจากที่รัฐไทยกำหนดได้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และขาดหลักประกันในเสรีภาพทางความคิดของนักศึกษาและอาจารย์
“หลักประกันเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ มันคือหลักประกันว่าต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อนักศึกษาและอาจารย์ เช่นการขู่ว่าจะลงโทษ การไม่ต่อสัญญาจ้างเพื่อมาปิดปาก หรือการค้นคว้า คือถ้าเกิดมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย มันจะกลายเป็นว่า พื้นที่ของนักศึกษาและอาจารย์ รวมถึงเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการเรียนรู้ มันก็จะหายไป” ศรัณย์ รองประธานสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ศรัณย์ ตั้งคำถามต่อไปว่า หากมีการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ยังมีคงกฎหมายมาตรา 112 อยู่ก็จะไม่สามารถตั้งคำถามอะไรได้ นักศึกษาจะได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวเท่านั้น ดังนั้นการเรียนการสอนดังกล่าวจะเป็นการเรียนแบบปกติหรือไม่
“หากคุณอยากเลคเชอร์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในห้องเรียน แต่ ม.112 ยังอยู่ ทำให้คุณไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้อย่างมีอิสระ วันนั้นจะเป็นการเรียนแบบปกติได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่ทางวิชาการ พื้นที่ทางความคิด พื้นที่ที่ทุกคนจะได้มาแชร์แลกเปลี่ยนกันมันหายไปแล้ว” ศรัณย์ ตั้งคำถาม
ศรัณย์ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการฟ้องร้อง ผศ.ณัฐพล ใจจริง คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ' และหนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' ว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการมีอยู่ของกฎหมายมาตรา 112 ที่ส่งผลต่อผู้เขียนถึงประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งศรัณย์และคุณานนต์เห็นตรงกันว่า ทางออกเดียวที่จะทวงคืนเสรีภาพทางวิชาการกลับคืนมาได้ ต้องยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของนักศึกษาในวิถีประชาธิปไตย และสร้างพื้นที่การถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในมหาวิทยาลัยอย่างอิสระมากขึ้น และเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้เพื่อนของเขาที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำได้รับการปล่อยตัว
“การยกเลิก 112 มันจะเป็นการนำมาซึ่งการสร้างบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย การสร้างบรรยากาศเสรีภาพทางวิชาการ เพราะตราบใดที่มาตรา 112 ยังอยู่ มันก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ (กรณีการฟ้องร้องณัฐพล) เสรีภาพทางวิชาการก็จะไม่มี บรรยากาศการถกเถียงกันตามระบอบประชาธิปไตยกัน ตามครรลองที่ควรเป็นก็จะไม่เกิด” ศรัณย์ กล่าว
“มาตรา 112 สำหรับเรามันไม่ใช่แค่กฎหมาย 3 บรรทัดที่ถูกเขียนถูกบัญญัติไว้เป็นแค่ลายลักษณ์อักษรเฉยๆ แต่มันคืออาวุธที่เอาไว้ปราบปรามคนเห็นต่าง เอาไว้พรากอิสรภาพของคน เป็นอาวุธที่รัฐใช้กดความเป็นมนุษย์ของคนไทย และเป็นภาพสะท้อนของการบังคับใช้กฎหมายอย่างป่าเถื่อน” ศรัณย์ กล่าว
“ในฐานะนักศึกษา มองว่ากฎหมายเหล่านี้มันต้องถูกตรวจสอบ แก้ไข หากประชาชนมองว่ามันมีปัญหาจริง มันก็ต้องยกเลิกไป เช่น ม.112 ม.116” คุณานนต์ กล่าว
ศรัณย์ในฐานะประธานสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของสภานักศึกษาในการผลักดันประเด็นการยกเลิกมาตรา 112 ว่า สภานักศึกษาถือเป็นโครงสร้างตามระบอบประชาธิปไตยในหมู่นักศึกษา ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้แทนในการสะท้อนเสียงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้ออกไปสู่ประชาคมภายนอก ดังนั้นสภาจึงเป็นเหมือนการสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคม และการที่สภานักศึกษามารณรงค์ยกเลิก 112 เป็นการประกาศจุดยืนว่า นักศึกษาในฐานะวิญญูชน ปุถุชนคนหนึ่งในประเทศ มีความต้องการและปรารถนาร่วมกันที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เนื่องเป็นกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นสภานักศึกษาจึงต้องเป็นกระบอกเสียงให้กับนักศึกษาเพื่อเผยแพร่สารของนักศึกษา
“เราประชาคมธรรมศาสตร์ไม่เอา 112 สภานักศึกษาก็ต้องทำหน้าที่นี้ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาคมภายนอกรู้ และจะต้องนำนักศึกษาขับเคลื่อนสังคมเพื่อต่อต้านอำนาจอยุติธรรมทุกรูปแบบ เช่น มาตรา 112 ต่อไป” ศรัณย์ กล่าว
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยออกมาเคลื่อนไหวและประกาศสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 รวมถึงเปิดโต๊ะล่ารายชื่อสนับสนุนการยกเลิก 112 ในช่วงต้นเดือน พ.ย. 64 โดยกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 มีรายชื่อดังนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่: