ดุ๊ก - พชร อาชาศรัย ผู้กำกับศิลป์ละครเวที และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ออนไลน์ ว่า งานที่เขาทำเรียกว่า Cut out sketch ซึ่งมีลักษณะเป็นการตัดภาพจากกระดาษแล้วนำผสมผสานกับวัตถุต้นแบบ หรือพูดง่ายๆ ว่า ภาพซ้อนภาพ
ดุ๊กเล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด เห็นว่าวิวสวย พอดีกับพกกระดาษ คัทเตอร์ และดินสอติดไปด้วยจึงทดลองทำดู ซึ่งครั้งแรกได้อัพโหลดรูปภาพลงเฟซบุ๊กส่วนตัว พบว่ามีกระแสตอบรับจากเพื่อนๆ ดีมาก หลังจากนั้นก็ทำต่อมาเรื่อยๆ และเริ่มเปิดเพจ Porchorrorgallery โดยใช้เวลาเพียง 2-3 วัน ก็มียอดติดตามถึง 3 หมื่นราย
ดุ๊ก บอกว่า เหตุผลที่งานศิลปะได้รับความนิยมและชื่นชอบ อาจเป็นเพราะรูปแบบศิลปะที่ยังไม่ค่อยมีคนเห็นมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะผลงานจากคนไทยด้วยกัน ซึ่งแบบชุดที่ได้กระแสตอบรับดีมากคือชุดที่นำเสนอศิลปะความเป็นไทยเข้าไปด้วย โดยมีทั้งชาวต่างชาติ และคนไทยมาชื่นชม
ล่าสุดผลงานศิลปะในคอลเล็กชั่น ‘วัดอรุณฯ’ ของเขาถูกแชร์เเละวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสม เพราะวัดอรุณฯ ถือเป็นโบราณสถาน ซึ่งเขาเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ ดุ๊กนำเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์ด้านศิลปะ ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นงานที่สร้างสรรค์ ไม่ได้ไปทำลายสิ่งที่มีอยู่ ไม่แม้แต่กระทั่งจะแตะพระปรางค์ด้วยซ้ำ รวมถึงมองเห็นข้อดีว่าสามารถทำให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นความสวยงามของศิลปะที่วัดอรุณฯ และอาจช่วยทำให้ผู้คนอยากมาเที่ยวกันมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ความรู้เรื่องศิลปะของทุกคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะศิลปะไทยที่ในอดีตเราค่อนข้างยกว่าเป็นของสูง แต่สำหรับชาวต่างชาติ ศิลปะค่อนข้างเปิดกว้างและไม่จำกัด เขาจึงรู้สึกว่าไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันหรือชื่นชอบผลงานได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งจะทำได้คือการพิสูจน์ไอเดียผ่านผลงาน
“ผมก็มักจะบอกเสมอว่ามันเป็นงานที่เป็นศิลปะในเชิงผสม มันมีตั้งแต่แบบแฟชั่นดีไซน์ การวาดเสื้อผ้า การลงสี การตัดกระดาษ ไปจนถึงการมองมุมภาพ การเอาศิลปะไทยมาผสม แล้วผมรู้สึกว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะที่มันสามารถต่อยอดไปได้ไม่สิ้นสุด” ดุ๊กบอกว่าเขาอยากจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอศิลปะของไทย
แม้ในช่วงเเรกจะรู้สึกดีใจที่มีคนมาชื่นชอบผลงานและร่วมกดไลค์เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น เขากลับค้นพบว่า 'ความสุขอยู่รอบตัวเรา' ทุกคนสามารถมองสิ่งรอบข้างให้เป็นความสุขได้
"อยู่ที่เราจะมองเห็น บางคนกลับไปกำหนดว่าความสุขจะต้องเป็นแบบไหน นั่นอาจจะทำให้คุณพลาดสิ่งเล็กน้อยที่สามารถสร้างความสุขได้เช่นกัน"
ดุ๊ก ยกให้งาน Cut out sketch เป็นงานอดิเรก ซึ่งทำผ่านความสุขและสามารถส่งต่อไปยังผู้อื่นได้
"มีผู้ชมส่งข้อความมาบอกผมว่า งานศิลปะของผมทำให้เขาหายเครียด ทำให้เขาหลุดไปอยู่อีกโลกใบหนึ่ง ได้โฟกัสกับงาน สามารถเรียกสติกลับมา ออกจากความเครียดและก้าวผ่านปัญหานั้นได้ " ชายหนุ่มเล่าถึงความประทับใจ
เขามองว่าการสร้างศิลปะ Cut out sketch เป็นวิธีการเช่นเดียวการแกะสลักไม้ การเพนท์ภาพบนฝาผนัง ซึ่งความสำเร็จของผลงานถูกถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ ทักษะ และรสนิยมของศิลปิน
“ผมรู้สึกว่ามันน้อยมากๆ ที่จะสามารถก็อปปี้กันได้ คำว่าก็อปปี้ในที่นี้มันคือทำให้เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ Inspiration มันมีจุดร่วมบางอย่าง แล้วก็เรานำเสนอในความแตกต่างกันออกไป นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมนำเสนอความเป็นไทยออกมา ผ่านในรูปแบบศิลปะของเรา ด้วยความที่เราเป็นคนไทย เราต้องการสร้างจุดยืนที่แตกต่างของเราออกไปด้วยเช่นกันครับ” ดุ๊ก กล่าว