ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงานขอเวลาหาทางลดจำนวนคนตกงาน เตรียมชงข้อมูลตัวเลขกำลังแรงงานเข้าที่ประชุม 'ศบศ.' 19 ส.ค. นี้ ชี้ปัจจุบันมีผู้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยค่าจ้าง 62% จากกรณีถูกเลิกจ้างฉุกเฉินเหลือ 20,000 ราย จากผู้ยื่นคำขอผ่านประกันสังคมกว่า 9.2 แสนราย

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ (18 ส.ค. 2563) ได้หารือกับทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องตัวเลขการว่างงานแล้ว โดยตัวเลขเสี่ยงว่างงาน 1.7 ล้านคน เป็นตัวเลขคาดการณ์ ส่วนที่ตกงานจริงๆ ตอนนี้มีกว่า 4 แสนคน ซึ่งเป็นผู้ถูกเลิกจ้างและใช้สิทธิประกันสังคม มาตรา 33 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) นัดแรกพรุ่งนี้ (19 ส.ค. 2563) รมว.แรงงาน จะนำข้อมูลตัวเลข 4 ชุด เข้าที่ประชุม ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชน การจ้างงานของภาครัฐ การส่งแรงงานไปต่างประเทศ และแรงงานพาร์ตไทม์ เพื่อใช้ประกอบการทำมาตรการช่วยเหลือแรงงานและจ้างงานคนรุ่นใหม่

"ขอให้ทุกคนใจเย็น เราไม่ได้เป็นคอมพิวเตอร์ที่จะกดปุ่มแล้วทำได้เลย ต้องให้เวลาแก้ปัญหา" สุชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ยังระบุว่า กำลังพิจารณาของเสนอของภาคเอกชนที่ให้ขยายการลดส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เรื่องนี้จะขอนำเข้าสู่การประชุมไตรภาคีของสำนักงานประกันสังคมต่อไป ส่วนเรื่องผู้ประกันตนที่กิจการหยุดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และจะได้รับเงินทดแทน 62% ของค่าจ้างนั้น ขณะนี้เหลืออีกเพียง 20,000 รายที่ยังไม่ได้รับเงิน จากทั้งหมดที่ทำเรื่องยื่นขอรับชดเชยจำนวนทั้งสิ้น 925,000 คน 

ทั้งนี้ในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วานนี้ (17 ส.ค. 2563) ระบุว่า มีแรงงาน 1.7 ล้านคน มีสถานะทำงานในสถานประกอบการ แต่ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง เนื่องจากนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวหรือบางส่วน และกลุ่มนี้มีความเสี่ยงตกงาน ขณะที่มีแรงงาน 4 แสนคน ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกเลิกจ้างและใช้สิทธิ์ประกันสังคมตามมาตรา 33 แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :