สำนักข่าว AFP รายงานว่า กลุ่มมหาเศรษฐีกรุงเทพฯ ยังรื่่นรมย์กับชีวิตที่หรูหราในช่วงล็อกดาวน์ (Bangkok's millionaires' club enjoys lockdown luxury) อ้างอิงบทสัมภาษณ์ 'จักรพันธ์ รัตนเพชร' นักธุรกิจชาวไทยที่กำลังไปได้ดีกับบริการจัดส่งอาหารระดับพรีเมียม White Glove Delivery by Silver Voyage Club ในช่วงที่รัฐบาลไทยจำกัดการเดินทาง และประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เอเอฟพีรายงานว่า ธุรกิจเดิมของ Silver Voyage Club คือ การให้บริการผู้ติดตามส่วนตัว (concierge) แก่กลุ่มลูกค้ามหาเศรษฐีที่มีรายได้สูงและเป็นลูกค้าวีไอพีของธนาคารต่างๆ ที่มีเงินในบัญชีไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 31 ล้านบาท) แต่ธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ 'โควิด-19' จึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นบริการจัดส่งอาหารพรีเมียมให้แก่ลูกค้าร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีแทน
บริการจัดส่งอาหารของจักรพันธ์ต่างจากบริการจัดส่งอาหารผ่านทางแอปพลิเคชัน เพราะเน้นบริการแบบ White Glove เป็นจุดขายหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้เว็บไซต์ supplychain247 เคยให้คำอธิบายว่าบริการแบบ 'ถุงมือขาว' หรือ White Glove Service เน้นการเติมเต็มความประทับใจให้ลูกค้า ทั้งในด้านความพิถีพิถัน ความใส่ใจ และความหรูหรา
นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดส่งสินค้าซึ่งต้องการความระมัดระวังอย่างสูง หรือต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการติดตั้งสินค้าเมื่อไปถึงสถานที่ปลายทาง เช่น การจัดส่งงานศิลปะ เค้กหรือช่อดอกไม้ที่ต้องอาศัยการจัดวางอย่างมืออาชีพ และการให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือแก่ผู้ที่รับของว่าควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
ส่วนบริการจัดส่งอาหารของ White Glove Delivery by Silver Voyage Club ที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ ระบุว่า เป็นการจัดส่งอาหารภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและหลักอนามัย 8 ข้อจากกรมอนามัย, ใช้รถลิมูซีนจัดส่งอาหารเพื่อความปลอดภัย สะอาด ปราศจากฝุ่น และการปนเปื้อน พร้อมรับประกันว่า รถลีมูซีนจะผ่านการพ่นสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสทุกเที่ยวการส่ง และพนักงานสวมถุงมือขาวที่เน้นความสะอาด ไร้เชื้อไวรัส ลดการสัมผัสให้น้อยที่สุด (Contactless Delivery) ในการจัดส่งอาหาร
ขณะที่เซ็ตอาหารที่จะจัดส่งให้กับลูกค้าผู้สนใจบริการ มาจากร้านอาหารชื่อดัง ซึ่งมีทั้งที่เป็นร้านเก่าแก่และร้านติดดาวมิชลินในโรงแรมต่างๆ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการคัดสรรวัตถุดิบราคาแพงและมีคุณภาพ สนนราคาเมนูอาหารอยู่ระหว่าง 1,000 - 5,000 บาท
เอเอฟพีรายงานว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารระดับพรีเมียม เจาะกลุ่มลูกค้าระดับมหาเศรษฐีในไทย ได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งยังระบุว่า ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีร่ำรวยระดับหมื่นล้านบาทอย่างน้อย 27 คน จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส
อย่างไรก็ตาม ไทยยังติดกลุ่ม 10 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกอีกด้วย และภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดเจนขณะนี้ก็คือการที่ธุรกิจระดับพรีเมียมไปได้ดี แต่ก็มีประชากรอีกราว 22 ล้านคนต้องลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
ส่วนร้านอาหารที่เข้าร่วมกับธุรกิจจัดส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันอื่นๆ แม้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะคนไม่มีทางเลือกมากนักในช่วงล็อกดาวน์ที่รัฐสั่งปิดร้านอาหาร แต่ร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลางจำต้องยอมรับเงื่อนไขด้านค่าคอมมิชชั่น ซึ่งบางเจ้าเรียกสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด จนกระทั่งรัฐบาลมีคำสั่งผ่อนปรนล็อกดาวน์ไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของ White Glove Delivery by Silver Voyage Club ระบุด้วยว่า เขาได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการบริจาคอาหาร 1,000 กล่องให้แก่บุคลากรการแพทย์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาโดยตลอด
ทางด้านเว็บไซต์ Business Insider ก็รายงานข่าวเรื่องธุรกิจจัดส่งอาหารพรีเมียมในไทย โดยอ้างอิงจากเอเอฟพี พร้อมระบุว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน เพราะบริการจัดส่งอาหารระดับพรีเมียมในนิวยอร์กขยายตัวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และสหรัฐฯ เองก็ติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกไม่ต่างจากไทย
เจ้าของธุรกิจจัดส่งอาหารแบบพรีเมียมรายหนึ่งในนิวยอร์กกล่าวด้วยว่า "การปรับตัวอย่างสร้างสรรค์จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตยุคโควิด-19 ไปได้" แต่ประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากก็กำลังจะตกงานเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดฯ
ก่อนหน้านี้ 'ดร.สมชัย จิตสุชน' จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ก่อนจะเผยแพร่ต่อทางเว็บไซต์ TDRI เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า คนในสังคมไทย 'ควรรู้' เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่า ไทยติดอันดับ 10 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก เพราะ "ความ 'พิเศษ' นี้ ชวนสงสัยว่า ระบบเศรษฐกิจการเมืองของเราน่าจะเอื้อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ"
บทความของ ดร.สมชัยยกตัวอย่างงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า "การแข่งขันในภาคเอกชนของไทย 'ลดลง' แต่อำนาจทางธุรกิจกระจุกตัวมากขึ้น การคอร์รัปชันแพร่หลายขึ้นและทำได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าคนทั่วไป ประโยชน์ที่ได้โดยมิชอบนี้ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้น"
นอกจากนี้ยังอ้างถึงงานวิจัยที่ระบุว่า "การ 'ขาดเงิน' ไม่ใช่เป็นเพียงนิยามของความยากจนเท่านั้น แต่เป็นข้อจำกัดที่สำคัญในตัวเองด้วย" โดย ดร.สมชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า "ถ้าคนจนได้รับการจัดสรรเงินหรือทรัพยากรในรูปแบบที่เหมาะสม คนจนจะใช้เงินดังกล่าวไปปลด 'ข้อจำกัด' ของการหลุดพ้นความจน ไม่ว่าจะเป็นการขาดการศึกษาหรือทักษะ การไม่กล้าลงทุนเนื่องจากรายได้ไม่สม่ำเสมอ"
อย่างไรก็ตาม การรับมือและจัดการความช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอด และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเขียนจดหมายถึงมหาเศรษฐีไทย 20 รายเพื่อขอคำแนะนำและเชิญให้มาร่วม 'ทีมไทยแลนด์' เพื่อรับมือและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จนอาจสะท้อนได้ว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยไม่น้อยเลย แต่การที่คนจนจะสะท้อนเสียงของตัวเองให้ถึงผู้มีอำนาจรับผิดชอบนั้นช่างลำบากยากเย็น
ผู้ที่วิพากษ์รัฐบาลจำนวนหนึ่งมองว่า การเยียวยาควรฟังเสียงประชาชน แต่รัฐบาลกลับไม่อาจจัดหามาตรการที่เหมาะสม เพียงพอ ทันต่อความต้องการของประชาชนได้ เพราะไม่เข้าใจปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากแต่ละกลุ่ม รวมถึงไม่เข้าใจสภาพความเหลื่อมล้ำที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่สามารถออกมาตรการที่เอื้อต่อกลุ่มทุนและเอกชนได้อย่างรวดเร็วกว่า
โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเขียนและนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจนในสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และในสหรัฐอเมริกา โดยเขามองว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ เกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่ง ซึ่งทุกรัฐบาลควรพิจารณาแก้ปัญหาในระยะยาว
Investopedia สื่อด้านการลงทุนของสหรัฐฯ ระบุว่า สติกลิตซ์ค่อนข้างเห็นด้วยกับคำตอบของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำว่าอยู่ที่นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Healthcare) และรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ขณะเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมในประชากรทุกกลุ่ม
ส่วนบทความของ ดร.สมชัย อ้างอิงถึงประเทศแถบยุโรปที่มีความเหลื่อมล้ำไม่สูงมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชนของตัวเอง "อย่างเท่าเทียมกัน ในลักษณะถ้วนหน้า" และถือว่าเป็นสิทธิ ไม่ใช่การสงเคราะห์ ช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดี มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาตัวเอง และเสริมสร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับสังคม
ด้วยเหตุนี้ ดร.สมชัยระบุว่า"ทุกนโยบายสำคัญของรัฐบาลต้องคำนึงถึงมิติความเหลื่อมล้ำเสมอ เราจะใช้แนวคิดเดิมว่าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแล้วทุกอย่างจะดีเองไม่ได้"
ส่วนข้อเสนออื่นๆ ได้แก่ การแบ่งหน้าที่ระหว่างภาครัฐและเอกชนให้ดี, การกระจายอำนาจการเมืองและอำนาจการคลังออกจากส่วนกลาง ยกระดับธรรมาภิบาลของการบริหารภาครัฐ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย, ยกเครื่องความสามารถในการควบคุมการผูกขาด, ลดช่องว่างคุณภาพการศึกษา และยกระดับการประกันสุขภาพ โดยสิทธิประโยชน์จาก 'สามกองทุน' ต้องไม่ห่างกันมาก
ขณะที่รายงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยของธนาคารโลก หรือ World Bank (Taking the Pulse of Poverty and Inequality in Thailand) ที่เผยแพร่เมื่อ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ระบุเช่นกันว่า ควรต้องปรับปรุงเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพชีวิตของแต่ละครัวเรือน เพื่อพิจารณาว่า อะไรคือสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน
ข้อเสนอแนะของธนาคารโลกระบุว่า สภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ค่าครองชีพก็สูงขึ้น สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากไม่พิจารณาอย่างรอบด้านก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จตามเป้าหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: