ไม่พบผลการค้นหา
วิปฝ่ายค้าน ประเดิมเวทีซักฟอกนอกสภาครั้งที่ 1 ชำแหละ IO เป็นการฆาตกรรมมวลชน ฟันธงความเกลียดชัง-แตกแยกถูกสร้างขึ้นโดยรัฐ ชี้ อำนาจเผด็จการมองประชาชนเป็นศัตรู ไม่แคร์สายตาชาวโลก

ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน จัดเวทีซักฟอกนอกสภา ครั้งที่ 1 "แฉกระบวนการ IO ฉีกหน้ากากขบวนการเพิ่มความขัดแย้ง" ดำเนินรายการโดยนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมน์นิสต์และพิธีกร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวในการเปิดงานว่า สังคมไทยได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง ที่มองประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนในส่วนร่วม และการเปิดซักฟอกรัฐบาลนอกสภาครั้งนี้ ไม่ใช่การ จ้องเล่นงานรัฐบาล แต่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ความจริง และฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ คือการสร้างให้ประชาชนในประเทศมีความเกลียดชัง แตกแยก แบ่งฝ่าย สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 มีงบประมาณการประชาสัมพันธ์ 2 แสนกว่าล้านบาท, งบฝึกอบรม 8 พันกว่าล้าน, งบความมั่นคง 1 หมื่นกว่าล้านและงบบูรณาการภาคใต้อีกหมื่นกว่าล้านบาท ที่ควรใช้สร้างการสื่อสารที่ดี แต่ได้พบว่ามีการนำงบประมาณหล่านี้ไปสร้างความเกลียดชังและแตกแยก สร้างให้ประชาชนเป็นข้าศึกศัตรู จึงมองว่านอกจากวันนี้ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย วิกฤตภัยธรรมชาติและไวรัสแล้ว

ยังมีอีกวิกฤตหนึ่ง คือ การทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี ที่ถือเป็นมหันตภัย เป็นการฆาตกรรมมวลชน 'ภราดร' ชี้ 'IO' ทำขาวเป็นขาวและทำขาวให้เป็นดำ

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.และที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการปฏิบัติการข่าวสาร มี 2 มิติทั้งลบและบวก คือ ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจข้อมูลให้ตรงความจริง กับ สร้างความเข้าใจผิด หรือ "ทำขาวเป็นขาวและทำขาวให้เป็นดำ" ได้ ซึ่งใช้ในปฏิบัติการทางทหาร ตามตำราสหรัฐอเมริกามุ่งเป้า IO กับต่างชาติ โดย ประเทศที่เจริญแล้ว จะใช้เพื่อบรรลุภารกิจที่อาจสร้างความขัดแย้งเพื่อนำสู่การเจรจาหารือกันได้ ส่วนในอดีตไทยใช้สู้กับภัยคอมมิวนิสต์ แต่วาทกรรมชายชุดดำ หรือ เผาบ้านเผาเมือง ปี 2553 ถูกสร้างขึ้นนั้น ได้ขยายจากความขัดแย้งเป็นความแตกแยก สมัยก่อนมีภัยคอมมิวนิสต์ พล.ท.ภราดร ระบุด้วยว่า การใช้ IO ที่เข้มข้นจนเกิดปัญหา มาจากการให้ทหารคุมหน่วยงานความมั่นคง ที่มาเผชิญหน้าและมองประชาชนเป็นศัตรู และต้นตอจองปัญหา คือ ทหารการเมืองที่มาจากรัฐประหาร ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตั้งคำถามว่า คณะรัฐประหารเป็นคนดีมีเกียรติยศ จริงหรือเปล่า ที่ก่อรัฐประหารและนำเครื่องมือทางการทหารมาใช้ในทางการเมือง 'วิโรจน์' ซัด รบ.มองการใช้สิทธิของประชาชนเป็นผู้ก่อการร้าย

ฝ่ายค้าน-วิโรจน์.jpg

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล (อดีตพรรคอนาคตใหม่) กล่าวว่า ความจริงหรือไม่จริงจาก IO ไม่สำคัญเท่ากับ การสร้างข่าวเท็จมาแล้วคนเชื่อ แต่คนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ไม่สำคัญเท่ากับ ถูกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้เชื่อไม่เหมือนกัน ซึ่งสังคมต้องตระหนักว่า อยู่ดีๆเราเกลียดกัน แต่เราถูกปลุกปั่นยุยงให้เกลียดกัน

พร้อมกับมองว่ากรอบคิดผู้มีอำนาจยังไม่เปลี่ยน และยังขายเฟรนไชส์ให้เอกชนร่วมทำ IO ด้วย อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถหาข้อมูลข้อเท็จจริงจากโลกออนไลน์ได้ จึงเท่าทันปฏิบัติการ ได้ระดับหนึ่ง พร้อมฝากถึงผู้มีอำนาจว่า อย่ามองการใช้สิทธิของประชาชนเป็นการก่อการร้าย อย่ามองประชาชนเป็นศัตรู เพราะไม่เกิดประโยชน์กับมวลชนฝ่ายใดทั้งสิ้น พลังปวงชนไทย ย้ำต้องหาแก๊ง 'IO' มาลลงโทษ

ฝ่ายค้าน-นิคม.jpg

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ระบุว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงที่เป็นอดีตแกนนำ กปปส.คอยดูแลใกล้ชิด ซึ่งน่ากังวลที่คนไม่กี่คนมาตัดสินและกำหนดว่าข่าวใดเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม โดยเห็นว่า ทหารควบคุมการสื่อสารทั้งวิทยุและโทรมัศน์ เพราะมองการสื่อสารเป็นความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงทหาร แต่ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน ซึ่งบทบาทของ ส.ส.ต้องหาหลักฐานเอาผิดคนทำ เพราะมีความผิดตามกฎหมาย และเชื่อว่าถ้าเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เชื่อว่า เรื่อง IO จะไม่มีโดยเด็ดขาด รัฐไทยเป็นหนึ่งในประเทศคุกคามประชาชน

อังคณา.jpg

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ภาครัฐมีความหวาดระแวงประชาชนอย่างมาก จึงใช้ทุกวิธีเพื่อกำราบประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ที่มีความหวาดกลัว จึงใช้วิธีการสกปรก รวมถึง IO ใส่ร้ายผู้อื่นด้วยความเท็จ และสิธีการนี้ถูกมานำมาใช้อย่างมากโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมองว่า แทนที่ฝ่ายความมั่นคงจะเปลี่ยนความกังวลหรือความกลัวมาหาแนวทางป้องกันคุ้มครองสิทธิประชาชน แต่กลับใช้ Cyber attack มาคุกคาม ทั้งที่สุดท้ายแล้วก็ปิดกั้นความจริงไม่ได้ นางอังคณา ยังระบุถึงสายตาชาวโลกผ่านการรายงานของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติทั้งปี 2561 และ 2562 มีรายงานมากกว่า 52 หน้าทั้ง 2 ฉบับ ระบุชัดเจนว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยสื่อออนไลน์และอื่นๆ ทำให้กลายเป็นผู้ไร้อำนาจเมื่อตกเป็นเหยื่อ และเลขาธิการสหประชาชาติ ยังมีหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศของไทยระบุด้วยว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิบัติที่น่าละอาย ขณะที่สหประชาชาติ เสนอรัฐไทยที่เป็นภาคีด้วยว่า ควรนิยาม "การถูกทำให้ไร้อำนาจ" เมื่อถูกรัฐกล่าวหา รวมถึง นิยาม"ความตั้งใจ" ของผู้ที่ถูกอำนาจรัฐกล่าวหาว่ากระทำผิดให้ชัดเจนด้วย นางอังคณา กล่าวทิ้งท้ายว่าผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องน่าอับอายนี้ กลับเป็นอำนาจรัฐทั้งที่มีหน้าที่คุ้มครอง แต่กลับเยี่ยมสร้างความเกลียดชังและหวาดระแวง ดังนั้น จึงป่วยการที่จะพูดถึงความสมานฉันท์ปรองดอง อย่างไรก็ตามรัฐไทยไม่สามารถปกปิดความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศ และสิ่งที่นานาชาติมองมาที่ไทยได้เพราะแม้ว่าจะพยายามปกปิดประชาชนก็สามารถรับรู้ความจริงทางโซเชียลมีเดียได้อยู่ดี 'ตัวแทนเยาวชน' ชี้ IO เป็นกลไกการปราบปรามอุดมการณ์ประชาธิปไตย

แฉกระบวนการ IO_๒๐๐๓๑๒_0007.jpg

นายโอมาร์ หนุนอนันต์ เยาวชนคนรุ่นใหม่ โปรดิวเซอร์รายการปั่นประสาท podcast กล่าวว่า การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองปัจจุบัน เป็นทั้งค่านิยมและยุทธวิธีทางการเมือง แต่ในการต่อสู้ทางการเมืองนั้น ความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อมูลของใครจริงกว่า แต่อยู่ที่ใครมีอำนาจทำให้คนเชื่อได้มากกว่า ขณะที่สังคมประชาธิปไตยนั้น ภาครัฐต้องไม่แทรกแซงสิทธิของประชาชนที่จะเข้าถึงข้อมูลและเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถวิเคราะห์หาความจริงเองได้ แต่ประเทศไทยเป็นรัฐเผด็จการที่อ้างชาติตลอดเวลา และไม่เคยมองว่าชาติคือประชาชน ดังนั้น การใช้ I O กับประชาชนจึงสะท้อนว่าอำนาจรัฐมองว่าประชาชนโง่ จึงต้องป้อนความจริงให้ นายโอมาร์ ระบุได้ว่า ตามปกติจะมีกลไกในการควบคุมประชาชน ทั้งความรุนแรงด้วยการปราบปรามและการครอบงำทางอุดมการณ์ ขณะที่ IO ไม่ได้เป็น 1 ใน 2 กลไกนั้น แต่เป็น "กลไกการปราบปรามอุดมการณ์ประชาธิปไตย" คือ ปกครองด้วยการสร้างความเท็จเพื่อผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงทางการเมืองของเผด็จการล้วนๆ โดยส่วนตัวมองว่า ยังมีแนวร่วมมวลชนที่เผยแพร่ทัศนคติที่มีเป้าหมายเดียวกันกับรัฐ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ ดังนั้น ต้องมองว่า IO ไม่ได้มาจากปฏิบัติการของรัฐเท่านั้น ยังมีเครือข่ายหนุนเสริมนอกอำนาจรัฐตลอดเวลาด้วย และเชื่อว่าทำอะไรคนที่ตื่นตัวทางการเมืองไม่ได้