ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร เสนอวิสัยทัศน์ บนเวทีแรก ชู 3 ประเด็น เน้นความยั่งยืนของสมาชิก - ความมั่นคงของมนุษย์ - และการบูรณาการร่วมกันระดับภูมิภาค สู่การกินดีอยู่ดีของประชากร กว่า 700 ล้านคนในภูมิภาค

วันนี้ (พุธที่ 9 ตุลาคม 2567) เวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้เข้าร่วมการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 (แบบเต็มคณะ) เพื่อย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนต้องมี “Collective Leadership” หรือการ ทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชนกว่า 700 ล้านคนในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ขอบคุณสำหรับการต้อนรับในครอบครัวอาเซียนอย่างอบอุ่นซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทยในการมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาประชาคมอาเซียน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากและซับซ้อน ทั้งจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายประเทศของสมาชิกอาเซียน  จึงเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างประชาคมอาเซียนที่เชื่อมโยงและยืดหยุ่นในแต่ละปัญหาให้มากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าความเป็นผู้นำร่วมกัน (collective leadership) ที่พร้อมจะสร้างความแตกต่างและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และความเจริญร่วมกันได้ โดยประเทศไทยได้เสนอประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ประเด็นด้าน 'ความยั่งยืน' นั้นประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เห็นว่าอาเซียนต้องร่วมกันดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ พลังงานสะอาด การเงินสีเขียว และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงนวัตกรรมดิจิทัลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่นี้จะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หรือเกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาค

2. ประเด็นด้าน 'ความมั่นคงของมนุษย์' นั้นประเทศไทยได้เสนอ ว่าอาเซียนต้องทำงานร่วมกัน ในการต่อสู้กับทุกวิกฤต เพื่อให้ประชาชนมี อาหาร พลังงาน และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน และควรส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะไปพร้อมๆ กับเกษตรยั่งยืน เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับผลผลิตและความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว ของภูมิภาค นอกจากนี้จะต้องเร่งเสริมสร้างกรอบการทำงานของอาเซียน ในด้านพลังงานเช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าของอาเซียน เพื่อการยืดหยุ่นด้านพลังงานในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน สมาชิกอาเซียน ควรร่วมกันส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพรมแดนระหว่างกัน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ แกงค์คอลเซ็นเตอร์ และการปราบปรามการ ค้ายาเสพติด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุม พื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างกัน

3.สำหรับประเด็นเรื่อง 'การบูรณาการระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้ง' นั้น นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ได้กล่าวถึงการสนับสนุนในความพยายามของอาเซียน ในการปรับปรุงและยกระดับ FTA กับคู่เจรจา และในฐานะที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมการเจรจา ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) จะผลักดันการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปีหน้านี้ ( พ.ศ.2568) เพื่อสร้างเครื่องยนต์กลไก เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ๆในอาเซียนนอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับ ธุรกิจขนาดกลางขนาด ย่อม และ ขนาดย่อย หรือ MSMEs เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยสร้างการเติบโตในเศรษฐกิจของโลกที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการสร้างความเชื่อมโยงในทุกๆด้านที่จะเป็นกุญแจสำคัญ อาทิ ขอให้อาเซียนส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนต่อกันเป็นพิเศษ เช่นการเพิ่มเที่ยวบินและขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า (visa-free) ระหว่างประเทศอาเซียน การส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเป็นแกนกลางและความสามัคคี ที่จะทำให้การมีส่วนร่วมของอาเซียนกับประเทศพันธมิตรภายนอก มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียน ควรหลีกเลี่ยงการเป็นตัวแทนของอำนาจใดๆ หรือปล่อยให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นเวทีแห่งการแข่งขัน ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ และไทยจะทำหน้าที่ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยจะรอ การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และอาเซียน-นิวซีแลนด์ และประเทศไทยพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มของประเทศมาเลเซียในการจัดการประชุม ASEAN-GCC-China Summit ในปีหน้า  

"ทั้งนี้ ในช่วงท้ายการประชุมช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับ สปป.ลาว สำหรับความสำเร็จของการเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ และพร้อมสนับสนุนมาเลเซียในการเป็นประธานอาเซียนวาระถัดไปซึ่งมั่นใจว่าจะพาประเทศสมาชิกอาเซียนให้พัฒนามในมุกๆด้านต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้"