วันที่ 20 ต.ค. 2566 เวลา 10.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN- Gulf Cooperation Council Riyadh Summit : GCC) ร่วมกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ คูเวต และโอมาน พร้อมกล่าวถ้อยแถลงภายใต้แนวคิด Innovative Partnership for Sustainable Future (ความเป็นหุ้นส่วนสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน) โดย ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมกันประชุมในวันนี้ พร้อมกล่าวแสดงความซาบซึ้งต่อการต้อนรับของมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย โดยการประชุมระหว่างอาเซียน-GCC ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ไทยยืนยันเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองภูมิภาค
ทั้งสองภูมิภาคมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ โดยมี GDP รวมกันมากถึงเกือบ 6% ของ GDP โลก ซี่งไทยมองว่ากรอบความร่วมมืออาเซียน-GCC ที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันรับรองในวันนี้ จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ทั้งสองภูมิภาคล้วนเผชิญกับความท้าทายร่วมกันในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ อาหาร พลังงาน สุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเด็นที่ผู้นำทุกคนกังวลคือฉนวนกาซ่าและพื้นที่โดยรอบ
อาเซียนและ GCC ได้ร่วมกันพัฒนาวิสัยทัศน์ที่ยั่งยืน พร้อมรับมือกับอนาคต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะร่วมต่อสู่กับความท้าทายต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันได้ ภายใต้แนวทางหุ้นส่วนสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Innovative Partnership for Sustainable Future) ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 ประเด็นความร่วมมือ ดังนี้
ประเด็นแรก ไทยพร้อมส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน พร้อมผลักดันการจัดตั้ง ASEAN-GCC Business Forum เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองภูมิภาค โดยไทยพร้อมเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทย-GCC (Thai-GCC FTA) เพื่อจะเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันไปถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกันนี้ ในฐานะครัวโลก (Kitchen of the World) ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในด้านการเกษตรกรรมและนวัตกรรมทางด้านอาหาร เพื่อเตรียมพร้อมต่อความท้าทายในด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งยินดีร่วมมือกับ GCC ในเรื่องวิทยาศาสตร์และมาตรฐานในการผลิตอาหารฮาลาลด้วย
ประการที่สอง ประเทศไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ไทยยังพร้อมส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียวและยั่งยืน ผ่านการออกพันธบัตรสีเขียวที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยยินดีหากสมาชิก GCC จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ร่วมกัน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเสนอความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิก GCC และ ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ประการสุดท้าย เพื่อกระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ไทยรวมถึงอาเซียน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากชาติสมาชิก GCC สู่ภูมิภาคอาเซียน สำหรับประเทศไทย ไทยวางเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวจากชาติสมาชิก GCC ให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเกือบ 300,000 คน ภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness tourism) คนไทยจำนวนมากสามารถพูดอารบิคได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประเทศกลุ่ม GCC และพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการจัดการทางการแพทย์ การจัดการทางด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นายกรัฐมนตรียังใช้โอกาสนี้ เรียกร้องให้ ASEAN-GCC สร้างขึ้นบนความปรารถนาร่วมกันเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ประเทศไทยเสียใจกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความสูญเสีย และมีผู้เสียชีวิตซึ่งรวมถึงคนไทยถึง 30 คน ซึ่งเรียกร้องให้ทุกผ่ายร่วมกันยุติความรุนแรง แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีโดยใช้การเจรจาต่อรอง การทูต ภายใต้พื้นฐานของการแก้ปัญหาระหว่างสองประเทศ
นายกฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงในตะวันออกกลาง และปล่อยตัวประกันทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลของการประชุมครั้งนี้ ต้องยั่งยืนผ่านความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอ และมีการติดตามผลการหารืออย่างเป็นรูปธรรม