ไม่พบผลการค้นหา
'ทัศนีย์' ชี้ร่างงบฯ 66 เอาเปรียบองค์กรส่วนท้องถิ่น จวกรัฐบาลหวังรวมศูนย์อำนาจ แต่กลับส่อทุจริตเอง

วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2566 (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ) ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.สเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายเหตุผลที่ไม่อาจรับหลักการของร่างงบประมาณฯ ฉบับนี้ได้ เนื่องจากมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณให้กระจายลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

รายการจัดสรรงบประมาณให้ อปท. โดยการแบ่งกลุ่มตามจังหวัด ไม่ได้สะท้อนการกระจายหรือจัดสรรงบประมาณแต่อย่างใด ในระหว่าง อปท.ด้วยกัน ควรแบ่งกลุ่มโดยการอาศัยข้อมูลรายได้ กล่าวคือท้องถิ่นที่มีรายได้มากก็ควรได้น้อย ท้องถิ่นที่มีรายได้น้อยก็ควรได้มาก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของท้องถิ่นด้วยกัน 

เงินกู้ของรัฐบาลจัดเป็นรายได้สุทธิของรัฐบาลซึ่งจะต้องนำมารวมก่อนที่จะกำหนดเป็นสัดส่วนแบ่งให้ อปท. เช่น กรณีกู้โดยอ้างว่าแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ได้นำมารวมเป็นยอดรายได้สุทธิเพื่อนำมาคิดเป็นรายได้สัดส่วนจัดสรรให้กับท้องถิ่น ในร่างงบฯ ฉบับนี้ก็เช่นเดียวกัน กรณีเงินกู้ที่จะต้องนำมาคำนวณเป็นสัดส่วนแบ่งให้ท้องถิ่น รัฐบาลกลับยักยอกไว้ใช้ในส่วนกลาง และให้ส่วนท้องถิ่นนำเงินสะสมไปช่วยประชาชนเอง จนขณะนี้บางท้องที่ไม่มีเงินจะให้กับเจ้าหน้าที่อีกแล้ว

"รัฐบาลควรเลิกเห็นว่า ท้องถิ่นเป็นขอทานมาแบมือขอเงิน ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลนี่แหละไปเก็บภาษีจากประชาชนในท้องที่ของเขา จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่เขาจะต้องได้เงินภาษีของประชาชนในท้องที่ไปดูแลพื้นที่ของเขา ไม่ใช่รัฐบาลทำตัวเป็นนักเลงเก็บเงินในพื้นที่เขาแล้วแบ่งเศษเงินให้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับท้องถิ่น"

ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันผ่านมา 17 ปีแล้ว รัฐบาลยังจัดสรรให้ อปท. แค่ 29.6% และมีนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลแทรกเข้ามาอีก ขนาดรัฐบาลจัดงบแฝงมาให้ท้องถิ่นแล้ว ท้องถิ่นยังไม่ได้รับการจัดสรรถึง 35% ตามที่ควรจะได้ จึงอยากฝากถามไปยังนายกรัฐมนตรี ว่าชาตินี้จะได้หรือไม่

ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับราชการในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งๆ ที่ราชการในส่วนภูมิภาคทำภารกิจเดียวคือทำตามชื่อของกระทรวงที่สังกัด เมื่อเทียบกับ อปท. ที่ต้องทำภารกิจของทุกกระทรวง มีความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณ สามารถโยกงบประมาณด้านอื่นๆ มาแก้ไขปัญหาที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนได้อย่างเร่งด่วน แต่ถ้าระบาดส่วนภูมิภาคทำอย่างนั้นไม่ได้ รัฐบาลก็ควรลดงบประมาณส่วนภูมิภาค และไปเพิ่มให้ อปท. แทน แต่ในร่างงบฯ ฉบับนี้รัฐบาลกระทำตรงกันข้าม

ตั้งแต่ยุค คสช. มาถึงรัฐบาลชุดนี้ ท้องถิ่นถดถอยไปกว่า 20 ปี เพราะมีการดึงอำนาจของท้องถิ่นไปสู่รัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งกลับทำให้ปัญหาทุจริต ตามที่มีหลักฐานปรากฏเด่นชัดมากมาย เนื้อหาสาระของร่างงบฯ ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยไม่ให้ความสำคัญกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งเลย จึงเป็นเหตุที่ตนไม่สามารถรับหลักการของร่างงบฯ ฉบับนี้ได้