ไม่พบผลการค้นหา
‘สุชาติ’ แจงเหตุค่าแรง 425 บาท ยังไม่เกิด หวั่นนายจ้างรับภาระไม่ไหว นักลงทุนหนีหาย ยันประกาศใช้ 1 ม.ค. 66 แต่เพิ่มเท่าไหร่ต้องดูความเป็นจริง

วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2566 (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ) เป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงประเด็นๆ ต่าง เช่นเงินกองทุนประกันสังคมที่คงค้าง และการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ

สุชาติ กล่าวถึงเงินกองทุนประกันสังคมที่รัฐบาลยังมีเงินคงค้างอยู่ ซึ่งสะสมมาจากหลายรัฐบาลก่อนๆ มรสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในปี 2563 มีการจ่ายชำระสมทบให้เต็มจำนวน รวมทั้งจ่ายเพิ่มเติมเพื่อชำระของเก่าที่ค้างมา 1.9 หมื่นล้าน ตั้งแต่รัฐบาลใดไม่พูดถึง แต่ก็ได้ชำระให้ กล่าวได้ว่าเป็นรัฐบาลเดียวที่จ่ายค้างชำระของเก่าให้ แต่ในปี 2565 ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ต้องใช้เงินมหาศาลในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ทั้ง 2565-2566 ก็ยังคงชำระค่าใช้จ่ายคงค้างอย่างเต็มจำนวนอยู่ จากที่ค้างชำระ 6 แสนล้าน เหลือเพียง 6 หมื่นล้านกว่า

สำหรับประเด็นค่าแรง 400-425 บาท ตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างมากนั้น กรอบเวลาของการขึ้นค่าแรงของไทย นับแต่ปี 2564 ก็มีประกาศขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ทั้งประเทศ แต่กว่าจะขึ้นได้ก็มีคณะกรรมการค่าจ้างลาออกหลายชุด สืบเนื่องจากผู้ประกอบการยังคงบอบช้ำด้วยผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มีการชะลอการขึ้นอัตราค่าแรง เนื่องจากทวีคูณขึ้นเท่าตัว

“การจะขึ้นค่าแรงโดยไม่มีหลักเกณฑ์หลักการ ทำให้นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะไม่รู้วันดีคืนดีจะขึ้นค่าแรง 100% หรือไม่ จึงใช้กฏเกณฑ์ LLO มาใช้ ซึ่งเป็นหลักสากล เริ่มปรับมาตั้งแต่ 2560 เป็นลำดับ เป็นสูงสุด 336 บาท”

นอกจากนี้ สุชาติ ยังอธิบายว่า การขยับขึ้นค่าจ้างนั้น จะส่งผลกระทบให้นายจ้างต้องแบกรับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น 40,776 ล้านบาท สภาหอการค้า หรือ TDRI วิเคราะห์ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลให้ของแพง และแรงงานต่างชาติแย่งงานคนไทย จำนวนพนักงานลดลง ย้ายฐานการผลิต ไปจนปิดกิจการ

อย่างไรก็ตาม สุชาติ ระบุว่า ตนในฐานะรัฐมนตรีได้เสนอการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมเป็น 112 สาขา โดยมีอัตราค่าแรงสูงสุดที่ 855 บาท ต่ำสุด 345 บาท ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มค่าแรงอย่างเสมอภาค แต่ลดหลั่นกันไปตามมาตรฐานฝีมือ

ขณะนี้ ไตรภาคีจังหวัดได้ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัด เพื่อพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบ ก่อนจะส่งข้อมูลเข้าสู่กระทรวงแรงงาน ก่อนเสนอเข้าสู่ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบประกาศราชกิจจานุเบกศา ภายใน ต.ค. 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 ด้วยเหตุว่า หากปรับทันควันในช่วงกลางปี จะส่งผลต่องบดุล งบภาษี โบนัส ให้เกิดปัญหาในระบบบัญชีทั้งหมด หากได้เป็นเจ้าของกิจการแล้วก็จะทราบ

“เนื่องจากค่าแรงเราอยู่ในขั้นตอนการปรับ เรายืนยันว่ามีการปรับค่าแรงแน่นอน แต่ปรับอัตราส่วนที่เท่าไหร่ ขอให้เป็นส่วนของไตรภาคีฯ เป็นผู้เสนอเข้ามา โดยเอาหลักความเป็นจริงที่เราตอบนายจ้างและลูกจ้างได้ ช่วงที่มีการปรับค่าแรง มีการเรียกร้องตั้งแต่ 492-500 บาท ไปจนถึง 700 กว่าบาท สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งประเทศไทย ซึ่งนายจ้างบาดเจ็บมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ลองนึกถึงใจเขาใจเรา ถ้าเราบังคับให้ต้องปรับตามที่เรียกร้อง แต่นายจ้างอยู่ไม่รอด สุดท้ายแล้วใครจะกล้าลงทุน นักลงทุนก็หนีหมด” สุชาติ กล่าว