คำวินิจฉัยที่อ่านต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 10 พ.ย. สร้างความฮือฮาในสังคมอย่างยิ่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันนั้นนับเป็นการล้มล้างการปกครองฯ
อาจเพราะข้อเสนอทั้ง 10 ข้อของเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างแนบแน่นกระมัง ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาประวัติศาสตร์ 'วอยซ์' ชวนนักประวัติศาตร์กระแสรองคนสำคัญอย่าง รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่ศาลหยิบยกมาใช้เป็นฐานความชอบธรรมในการวินิจฉัยนี้ ซึ่งดูเหมือนหลายจุดจะมีรายละเอียดน่าสนใจ และมีมุมมองที่แตกต่างไป
“ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องลากคำอธิบายไปยังโลกอดีตอันไกลมาก ไปถึงสุโขทัย ไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก 2475 ทำไมต้องลากไปไกลขนาดนั้นในเมื่ออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 นี่เป็นคำถามเบื้องต้น” ธำรงศักดิ์เปิดประเด็น
@ แบ่งประวัติศาสตร์การปกครองใหม่ ไม่ใช่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ @
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “....ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนั้น อำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่สุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของไทยมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน....”
ธำรงศักดิ์ เห็นแย้งการแบ่งประวัติศาสตร์ตามแบบเรียนเช่นนั้น โดยอธิบายว่า วงการประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้ถกเถียงกันมากว่าสุโขทัยไม่ใช่ราชอาณาจักรแรกของคนไทย สุโขทัยเป็นเพียง city state ในท่ามกลาง city state จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐเชียงใหม่ รัฐแพร่ รัฐสุราษฎร์ธานี รัฐในอีสานต่างๆ สุโขทัยเป็นเพียงแค่หนึ่งในรัฐต่างๆ ไม่ได้รวมศูนย์อำนาจ
“เสียดายศาลรัฐธรรมนูญลืมเอ่ยชื่อธนบุรี เอ่ยสุโขทัยได้ อยุธยาได้ แล้วมารัตนโกสินทร์เลย ผมก็แปลกใจว่าทำไมถึงลืมประวัติศาสตร์ของพระเจ้าตากสินมหาราช ไหนๆ ก็จะไล่อาณาจักรของคนไทยแล้ว”
ธำรงศักดิ์ แบ่งประวัติศาสตร์การปกครองของไทยใหม่ โดยระบุว่าหากเรามองย้อนกลับไป 600-700 ปี อาจแบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก
ยุคแรก อาจเรียกว่า ราชาธิปไตย monarchy หมายถึงการปกครองแบบอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ราชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นเจ้าแผ่นดิน แต่ในระบอบราชาธิปไตยจะเห็นการดุลอำนาจในกลุ่มของเจ้านาย เชื้อราชวงศ์ กลุ่มขุนนางด้วย และจะเห็นการสถาปนาของขุนนางขึ้นมาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่อยู่เนืองๆ ราชาธิปไตยจึงมีสภาวะของความไม่มีเสถียรภาพของระบอบทางการเมือง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นเนื้อเดียว
“เราจึงเรียกคร่าวๆ ไงว่า ยุคกรุงศรีอยุธยา ยุคกรุงธนบุรี ยุครัตนโกสินทร์ นี่คือราชาธิปไตยที่เปลี่ยนอาณาจักร”
ยุคที่สอง พัฒนาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ absolute monarchy เป็นความพยายามในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงหยิบยืมหรือเอาแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบตะวันตกมาสถาปนาในประเทศไทย มีการจัดระเบียบใหม่ทั้งข้าราชการทหาร พลเรือน และตุลาการ ข้าราชการก็ให้กินเงินเดือนประจำ
ยุคนี้ถ้าเป็นฝรั่งเศสจะตรงกับยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และตรงกับยุคพระนารายณ์ของไทยซึ่งยังเป็นราชาธิปไตยอยู่ และในที่สุดพระนารายณ์ก็ถูกแย่งชิงอำนาจโดยขุนนางของกรมคชบาล แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์สืบทอดสถานะของกษัตริย์ตามสายโลหิต จากพระราชบิดาถึงพระราชโอรส หรือกรณีของไทยก็เป็นพระอนุชาได้
“แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หยิบยืมระบอบของตะวันตกมาสถานปนาในประเทศไทยก็มีอายุ 40 ปีเท่านั้นเอง เรามักจะเรียนว่า เริ่มต้นปี 2435 ปฏิรูปการปกครองรวมศูนย์อำนาจเข้ามาสู่กรุงเทพฯ royal palace หรือว่าองค์พระมหากษัตริย์ แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยุติลงโดยการปฏิวัติ 2475”
ยุคที่สาม เข้าสู่ยุคของการสร้างประชาธิปไตย ส่วนจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ตลอด 9 ทศวรรษก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง ยุคประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ขณะที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น 2 ระบอบนี้ต่างมาจากโลกตะวันตกแล้วต้องเผชิญหน้ากัน และตลอด 600-700 ปีนี้มันไม่มีความต่อเนื่อง หากแต่เปลี่ยนแปลงขาดวิ่นอยู่ตลอดเวลา
@ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ @
“ประเด็นเรื่องอำนาจของพระมหากษัตริย์ เวลาอ่านแล้วดูเหมือนว่าคำวินิจฉัยนี้พยายามชี้ว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์สืบเนื่องมาตลอดเวลา ซึ่งจากการที่อธิบายว่าแบ่งเป็น 3 ยุคสมัย ยุคราชาธิปไตย เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของกษัตริย์โดยการรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นยุค 40 ปีสั้นๆ ที่พยายามสถาปนาอำนาจของกษัตริย์ แต่สั้นมาก และพอเข้ามาสู่ยุคประชาธิปไตย จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกถึงฉบับปัจจุบัน อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน อันนี้ในรัฐธรรมนูญ 2475 เลยนะ”
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านตัวบทเรื่องอำนาจสูงสุดโดยอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรก แต่ก็เพื่ออธิบายสถานะของพระมหากษัตริย์ที่สัมพันธ์อยู่กับอำนาจอธิปไตย หากแต่ธำรงศักดิ์อธิบายรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรกโดยเน้นเรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร โดยระบุว่า
รัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร 27 มิถุนายน 2475 มาตรา 1 ระบุว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มาตรา 2 อำนาจนี้ใช้ผ่านสถาบัน 4 สถาบันคือ สถาบันพระมหากษัตริย์, สถาบันนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร, สถาบันฝ่ายบริหาร คือ คณะกรรมการราษฎร, สถาบันศาล
“พอมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งในทางของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเขาก็ต้องการเทิดพระเกียรติยศให้กับพระมหากษัตริย์ จึงใช้คำที่ดูหรูหราอลังการมากขึ้น คือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย และประชาชนจึงมอบให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นแทน ดังนั้น การใช้อำนาจนั้นแทนก็คือแทนประชาชน ถ้าไปอ่านมาตรา 1,2,3 ก็จะเห็นตรงนี้ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจของประชาชน เพราะมหากษัตริย์อยู่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ head of state”
@ ประมุขแห่งรัฐคือสัญลักษณ์ @
ธำรงศักดิ์ยังขยายความเรื่องประมุขแห่งรัฐด้วยว่า เมื่อพูดถึงระบบทางการเมืองเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะไปดูประเทศไหนก็ตามให้ดูว่าใครคือ head of state ประมุขแห่งรัฐ และ head of government ใครคือประมุขฝ่ายบริหารหรือว่ารัฐบาล บางประเทศสองตำแหน่งนี้อยู่ในตัวคนเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา
“head of state ในทางระบบทางการเมืองก็คือ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นจะระบุไว้ว่า ประมุขแห่งรัฐหรือว่าจักรพรรดิ จะต้องทรงทำพิธีกรรมของรัฐ ไม่ใช่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ เพราะผู้ใช้อำนาจรัฐก็คือ head of government หรือประมุขฝ่ายบริหาร เช่นถ้าเราไปมองสิงคโปร์ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเรา ประมุขแห่งรัฐคือประธานาธิบดีที่เลือกตั้ง แต่ประมุขฝ่ายบริหารคือผู้มีอำนาจในการบริหารรัฐบาล มีอำนาจในการสร้างนโยบายต่างๆ คือนายกรัฐมนตรี”
ถามว่าทำไมต้องมีประมุขแห่งรัฐ นั่นก็เพราะเวลาบังคับใช้กฎหมายต่างๆ กระบวนการมาจากสภา มาจากรัฐบาล จึงจะต้องมีคนที่ลงนามหรือ sign ในนามของประเทศ หรือการประกาศกระบวนการทางกฎหมายต้องทำในนามประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชน
“ถ้าในระบอบประชาธิปไตย มาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับแรกก็คือ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย หรือปัจจุบันก็คือประชาชน แม้ว่าจะปรับมาเป็น 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย' หรือปรับมาเป็น 'อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย' แต่ไม่ว่าจะใช้คำยังไง นี่คือรากอำนาจของการเมืองไทย เพราะว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ”
@ สถาบันทางการเมืองต่างๆ สัมพันธ์กันหมดภายใต้รัฐธรรมนูญ @
ธำรงศักดิ์กล่าวว่า เวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญ ในทางนิติศาสตร์อาจกล่าวถึงตัวบทและการตีความ แต่ในทางรัฐศาสตร์จะมองว่ารัฐธรรมนูญคือ สถาบันทางการเมือง (political institution) ดังนั้น อะไรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญล้วนเป็นสถาบันทางการเมืองทั้งหมด และรัฐธรรมนูญจะออกแบบสัมพันธภาพของสถาบันทางการเมืองต่างๆ
“ในสถาบันทางการเมืองก็มีอะไรบ้าง นี่ไง หมวด 1 หมวด 2 หมวด 3 หมวด 4 หมวด 5 นี่แหละสถาบันทางการเมืองหมดเลย พอเรามองอย่างนี้ สถาบันทางการเมืองก็มีสัมพันธภาพระหว่างสถาบัน ประชาชนเลือก ส.ส. ส.ส.ไปเลือกนายกฯ นายกฯ ไปแต่งตั้งรัฐมนตรี ใครจะเป็นคน sign ลงนาม มันก็จะมีกระบวนการสัมพันธภาพทางอำนาจ เป็นระบบและกลไก”
“ดังนั้นเวลาเราอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ตัวบท แต่มันหมายถึงเรากำลังอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำลังอธิบายถึงสถาบันทางการเมือง กรอบอำนาจของสถาบันทางการเมืองนั้นๆ ไม่มีสถาบันไหนที่มีอำนาจเป็นล้นพัน เพราะมันจะมีการเกี่ยวโยงกันอยู่ตลอดเวลา”
@ สิทธิเสรีภาพรับรองทุกด้าน แต่ล้วนมี ‘ข้อยกเว้น’ @
ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “หลักการตามรัฐธรรมนูญวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คุณค่าทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแก่นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ หมวด3 ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการได้และได้รับความคุ้มครองตราบเท่าที่การใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น”
ธำรงศักดิ์อธิบายเรื่อง สิทธิเสรีภาพด้วยมุมมองรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ โดยหยิบยกบทบัญญัติเรื่องนี้ในประเทศอื่นมาเทียบกับของไทย และพบว่าเรารับรองสิทธิเสรีภาพอย่างดี แต่ล้วนมี ‘ข้อยกเว้น’ เสมอ และมักใช้ข้อยกเว้นนั้นมาจำกัดสิทธิ
“พอมองจากสายตาของผู้ที่เรียนรัฐศาสตร์รวมทั้งเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เมื่อไรมีการรัฐประหารก็จะออกแบบรัฐธรรมนูญให้อำนาจทหารเหนือประชาชน เหนือตรงไหน เช่น หมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ถ้าเราไปอ่านรัฐธรรมนูญอเมริกา การแสวงหาความสุขของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องพิทักษ์ อย่ามาล่วงล้ำความสุขของประชาชนนะ ฉะนั้น ประชาชนจะซื้อเว็บหนังโป๊ เป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสวงหาความสุข เพราะมันเป็นเสรีภาพ แต่ถ้าเป็นประเทศที่เป็นเผด็จการ สิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้ ขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งใครเป็นคนกำหนดว่าศีลธรรมอันดีคืออะไร”
“อย่างเช่นรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นระบุถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย จะมีบังคับหรือจับกุมพลการไมได้ มันเป็นเช่นนั้นเพราะญี่ปุ่นแพ้สงครามและอเมริกามาทำรัฐธรรมนูญให้ใหม่ ดังนั้น คนญี่ปุ่นที่อยู่ในสังคมศักดินา คนไม่เท่ากัน 70 ปีผ่านมาคนญี่ปุ่นจึงเท่ากัน เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบให้คนเท่ากัน และคนญี่ปุ่นจึงเป็นคนที่ได้ชื่อว่าตระหนักถึงสิทธิ์ของคนอื่น พอๆ กับรักษาสิทธิ์ของตนเอง”
“แต่รัฐธรรมนูญที่อยู่ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะบอกว่า คุณมีสิทธิทุกอย่าง มีเสรีภาพทุกอย่าง เว้นแต่ ไอ้คำว่า ‘เว้นแต่’ นี่แหละ เว้นแต่เพื่อความมั่นคงของชาติ เว้นแต่เพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เว้นแต่กฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติไว้ ฉะนั้น คำว่า ‘เว้นแต่’ มันทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเดี้ยงไปเลย”
“บังเอิญสอนรัฐธรรมนูญเทอมนี้ ก็จำเป็นต้องอ่านรัฐธรรมนูญหลายๆ ประเทศ พอมันเปรียบเทียบ เราก็ถึงบางอ้อ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น 2489 ระบุไว้ การเกณฑ์แรงงานของประชาชน เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ พอรัฐธรรมนูญไทย 2560 การเกณฑ์แรงงานประชาชนเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เหมือนกันเลย เว้นแต่เมื่อประกาศกฎอัยการศึก เว้นแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เว้นแต่ในสภาวะสงคราม รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นไม่มี ‘เว้นแต่’ ใดๆ ทั้งสิ้น”
“พออ่านคำวินิจฉัยที่อ้างสิทธิเสรีภาพที่มีในรัฐธรรมนูญไทยมาอย่างยาวนาน และมีมาตราว่าด้วย เว้นแต่ ที่เอามาใช้ นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เท่ากับว่า คนไทยไม่มีสิทธิเสรีภาพเพราะมันมีเว้นแต่หมดเลย ดังนั้น ในรัฐที่เป็นประชาธิปไตย คำว่าศีลธรรมอันดีจึงถูกตัดออกไป เพราะเป็นเรื่องการตีความของแต่ละคน แต่ละคนอาจมีศีลธรรมอันดีหรือศาสนาที่แตกต่างกัน คำว่า “ดี” พวกสายปรัชญายังเถียงกันไม่จบมา 2-3 พันปีแล้ว”
“คำวินิจฉัยบอกว่านี่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็เพราะหมวดว่าด้วย ‘เว้นแต่’ นี่เอง”
@ หน้าที่ของประชาชน ประเทศอื่นมีข้อเดียว จ่ายภาษี @
ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย หน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิหรือเสรีภาพทางการเมือง ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 อนุมาตรา 1 อนุมาตรา 3 และอนุมาตรา 6 ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดการแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม”
“นี่เป็นครั้งสำคัญที่คำวินิจฉัยเอาหมวดสิทธิเสรีภาพและหมวดหน้าที่มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า คำปราศรัยของคนเหล่านี้ได้ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของคนไทยเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ผิด”
“เรื่องที่ผมทึ่งมาก คือ ‘หน้าที่ของประชาชน’ ผมไปเปิดดูหน้าที่ของประชาชน 10 หน้าที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น คำประกาศว่าด้วยความเป็นพลเมืองของฝรั่งเศส ปี 1879 รวมทั้งรัฐธรรมนูญอเมริกาด้วย หน้าที่ของประชาชนก็คือ คุณจะทำยังไงให้ระบอบประชาธิปไตยมันดำรงอยู่ได้ หน้าที่ของคุณก็คือ ช่วยจ่ายภาษีมาหน่อย เราต้องเอาเงินไปบริหารประเทศ”
“รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นระบุหน้าที่ของประชาชนไว้อันเดียว ข้อความเดียว คือ หน้าที่จ่ายภาษี เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถบริหารประเทศได้เลย ถ้าไม่ได้ภาษีจากคุณ ดังนั้น ช่วยจ่ายหน่อยนะ เป็นหน้าที่ คำประกาศว่าด้วยสิทธิความเป็นพลเมืองและสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศส หน้าที่ก็คือจ่ายภาษี ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถพิทักษ์สิทธิความเป็นพลเมืองสิทธิมนุษยชนคุณได้เลย ถ้าคุณไม่มีตัวแทนที่เป็นรัฐบาลที่จะดูแลเรื่องนี้"
@ เกาะเกี่ยวอ้างอิงรัฐธรรมนูญเผด็จการ @
ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “มาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ โดยหลักการมาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้คุณค่าตามรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป”
น่าสนใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การนำเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 และย้อนความไปไกลว่ามาตรานี้มีบัญญัติมานานแล้วตั้งแต่ปี 2495 ดูผิวเผินเหมือนไม่มีอะไร เป็นเพียงบทบัญญัติที่มียาวนาน แต่ธำรงศักดิ์ได้ชี้ให้เห็นบริบทของการก่อเกิดมาตรา 49
“เวลาเราเรียกรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 นั้น ผมขอให้เรียกใหม่ เพราะนั่นเป็นกลยุทธของยุคสมัยนั้นที่ต้องการทำให้คนเห็นว่าคณะรัฐประหารที่รัฐประหารในปลายปี 2494 ได้พยายามกลับไปเหมือนการปฏิวัติของคณะราษฎร 2475 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนั้น เราต้องเรียกใหม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2494 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 ถึงจะชัดเจน”
“ในทางประวัติศาสตร์ การรัฐประหารปี 2494 เป็นการรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจของทหาร และกำจัดฐานอำนาจของฝ่าย royalist ในวุฒิสภาออกไป เพราะการรัฐประหาร 2494 เอารัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ฉบับวันที่ 10 ธันวาฯ มาใช้ซึ่งส่งผลให้เปลี่ยนโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองตอนนั้น รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาฯ 2475 รูปแบบของรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท ขณะที่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้นฉบับปี 2492 เป็นรูปแบบสภาคู่มีวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เหตุที่เขาเปลี่ยนก็เพราะเขาต้องการกำจัดวุฒิสภา วุฒิสภาเป็นผลพวงมรดกของการรัฐประหาร 2490 หลังจากที่ฝ่ายวุฒิสภาที่มาจากกลุ่ม royalist กลุ่มอนุรักษ์นิยมปฏิบัติงานมาหลายปีแล้วก็ถึงคราวที่จะเขี่ยออกจากกลุ่มอำนาจ ดังนั้นหลังจากการรัฐประหาร 2494 จึงนำไปสู่ความเข้มข้นของการเป็นรัฐทหารมากขึ้น จนกระทั่งมาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลายเป็นรัฐทหารสมบูรณาญาสิทธิ์ไปเลย หรือ absolute militarism”
“จอมพลสฤษดิ์จึงมีมาตรา 17 ที่คำสั่งหรือการกระทำของนายกฯ ถือเป็นกฎหมาย จอมพลสฤษดิ์จึงมีอำนาจทางด้านการศาลในการประหารชีวิตด้วย มาตรา 17 คือพ่อของพ่อของพ่อของพ่อ มาตรา 44 (คำสั่งหัวหน้า คสช.) มันเริ่มจากมาตรา 17 นี่แหละ แล้วมาเป็นมาตรา 21 มาตรา 27 แล้วมาตรา 44 การทำให้ผู้ทำการรัฐประหารมีอำนาจเป็นองค์อธิปัตย์สูงสุดคือมาตราลักษณะนี้ นี่คือ การรัฐประหารปี 2494 คือการสร้างเสริมให้รัฐทหารเข้มแข็ง ดังนั้นการกลับไปอ้างรัฐธรรมนูญตรงนี้ก็เป็นการอ้างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรังฐประหาร”
@ รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ เป็นประชาธิปไตยแค่ 5 ฉบับ @
ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมองบริบทในประเทศไทย เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว 20 ฉบับแล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเลยก็คือ รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับในไทยแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง คือ
กลุ่มที่ 1 รัฐธรรมนูญที่มุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีอยู่ 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 , ฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475 ,ฉบับที่สาม ปี 2489 เพราะปรับจากฉบับที่ 2 ,ฉบับที่สี่ ปี 2517 , ฉบับที่ห้า ปี 2540, คือรัฐธรรมนูญที่มุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
"ถามว่าอะไรคือรากฐานของการมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ทุกอย่างคุณจะต้องมีประชาชนเป็นแกนกลาง ความเป็นประชาธิปไตย ก็คือ นายกฯต้องเป็น ส.ส.แล้วมาจากการเลือกตั้ง มีการระบุตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกเลยว่านายกฯต้องเป็น ส.ส. ความหมายว่าเป็น ส.ส.ก็คือมาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 ก็เช่นกัน วิธีการของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคือเป็นใครมาจากไหนก็ได้ มันมีกระบวนการยอกย้อนมันยิ่งกว่าเวทมนตร์ของพวกพ่อมดอีก ถ้านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง คุณมาจากประชาชน แค่นั้น แล้วทุกอย่างมันก็เพื่อประชาชน”
กลุ่มที่ 2 รัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ หรือ ตอนแปลงร่างในเสื้อคลุมที่มีการเลือกตั้งแต่โดยนัยคือการสืบทอดอำนาจ อีก 15 ฉบับ
“มันแบ่งเป็น 2 กลุ่มและยังสู้มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมันจะต้องเลือกตั้งทุกระดับ ส.ว.ก็มาจากการเลือกตั้ง นายก อบต.มาจากการเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี ผู้ว่า กทม. พัทยา นั่นแหละคืออำนาจของประชาชน แต่ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญกลุ่มที่ 2 ของเผด็จการก็จะใช้วิธีการแต่งตั้งก็ได้ สรรหาก็ได้ เราจะเห็นคำ 2 คำเสมอ”
จะเห็นได้ว่า พลังของกลุ่มอำนาจในการเมืองไทยไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน มีทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายอนุรักษนิยมกษัตริย์นิยม ฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต่อสู้กันตลอดเวลา จนกระทั่ง หลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงเกิดความเปลี่ยนแปลง ธำรงศักดิ์ระบุว่า เราอาจจะเรียกว่าระบบนี้ว่า “ระบอบรัฐทหารศักดินา” ซึ่งเป็นการรวมกันเป็น 1 เดียว ซึ่งทำให้พลังอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐทหารลดลง แล้วค่อยๆ สลายตัวไป
“อันนี้เอาไว้เรามาเรียนอีกวิชานึง” ธำรงศักดิ์กล่าว
@ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่ได้มีมาแต่แรก @
ธำรงศักดิ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของคำนี้ว่า ชื่อระบอบนี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน และ 10 ธันวาคม 2475 เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยก็คือ democracy ไม่ต้องมีคำสร้อย
“การที่มีคำสร้อย อย่างเช่น ระบอบประชาธิปไตยอันมีประชาชนมีอำนาจสูงสุด ถ้ามีคำสร้อยแบบนี้แสดงว่ามันจะต้องมีความวิตกกังวลถึงคำสร้อย จึงมีคำสร้อย”
ธำรงศักดิ์ระบุว่า คำนี้ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2492 ซึ่งเป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2490 ที่ฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากที่ถูกยุติพระราชอำนาจในแบบเดิมไป 15 ปี ภายใต้การปฏิวัติของคณะราษฎร์
“การรัฐประหารปี 2490 เป็นการรัฐประหารที่ล้มหรือยุติการสร้างประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร์แล้วสถาปนาการฟื้นพระราชอำนาจแบบระบอบเก่าแล้วก็เปิดทางให้กลุ่มอนุรักษนิยม royalist เข้ามามีบทบาททางการเมือง แล้วก็มีกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญให้มันถาวรขึ้น ก็ออกมาเป็นฉบับ 2492 และในฉบับนี้จึงมีคำนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นคำนี้จึงถูกสร้างภายใต้บริบทของการล้มอำนาจของคณะราษฎร์ผู้ที่ต้องการสถาปนาความเป็นประชาธิปไตยอันเป็นอำนาจของประชาชน มันคือคนละเส้นทาง”
@ ข้อถกเถียงเรื่องมาตรา 6 และการตรวจสอบสถาบัน @
มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ไม่ได้ กลุ่มราษฎรเสนอให้ยกเลิกมาตรานี้แล้วให้กลับไปใช้ มาตราที่ปรากฎให้รัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 เรื่องนี้เป็นประเด็นหลักในคำวินิจฉัยของศาล
“ในความคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็คือ ระบอบนี้เป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญก็เป็นสถาบันทางการเมือง สิ่งใดๆ ก็ตามที่อยู่ในรัฐธรรมนูญต่างก็เป็นสถาบันทางการเมือง เมื่อเป็นสถาบันทางการเมืองแล้ว มันก็ต้องยึดโยง มีสัมพันธภาพระหว่างกัน รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มาจากประชาชน โดยที่ประชาชนให้ใช้อำนาจนั้นนามของประชาชนผ่านทางอะไรก็ว่าไป ด้วยเหตุนี้มาตรานี้ตามที่ประชาชนคนหนุ่มสาวเสนอ คือ การย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 เขาย้อนกลับไปที่มาตรา 6 เหมือนเดิม แต่เป็นมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรก”
“มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนาระบุว่า กษัตริย์นั้นจะถูกฟ้องร้องคดีอาญาทางโรงศาลไม่ได้ เรื่องนี้เหมือนรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพราะว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขสูงสุดของประเทศ ถูกฟ้องร้องคดีอาญาไม่ได้ แต่การกระทำของพระมหากษัตริย์นั้นอาจจะมีความบกพร่องอะไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงระบุไว้ว่า เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร์จะวินิจฉัย"
"กระบวนการวินิจฉัยของสภาอาจจะออกในเชิงของการเมือง มันจะใช้ทัศนคติ ความรู้สึก คือจะไม่เคร่งครัดตามหลักการของศาลที่จะต้องเป็นนิติรัฐ ต้องตีความตามตัวบทอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะเป็นคนอยู่ในสถานะใด ถ้าคุณเป็นคนกระทำความผิดแบบนี้ก็ต้องได้รับการตีความแบบนี้ ลงโทษแบบนี้ ตามกฎหมายอาญา แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้เทิดพระเกียรติและสถานะของพระมหากษัตริย์ให้สูงกว่าคนธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีสัมพันธภาพกับสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้พิจารณาถึงการกระทำที่ถูกฟ้องร้องของพระมหากษัตริย์เพราะสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเป็นอย่างไร ส่วนจะมีบทลงโทษหรือไม่ หรืออะไรหรือไม่อันนี้ไม่ได้ระบุไว้ นั่นหมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 อธิบายว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกตัวแทนของตนเองก็คือสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงมีสัมพันธภาพกับพระมหากษัตริย์ ในเชิง 2 สถาบัน สภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนจึงใช้อำนาจของประชาชนในการวินิจฉัยหรือเราอาจจะเรียกว่าการถ่วงดุลและตรวจสอบก็ได้ เพราะนี่คือ democracy ที่มี check & balance ถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกัน”
"รัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน ยังมีสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นอีก คือ มาตรา 9 มาตรานี้ผมก็ไม่เคยอ่านละเอียดๆ มาตรา 9 ระบุไว้ว่า ‘สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการดูแลควบคุมกิจการของประเทศ’ ซึ่งก็ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยเลย ประชาชนเลือก ส.ส. ส.ส.ไปเลือกนายกฯ นายกฯ ไปแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ และเสนอนโยบายมา ฝ่าย ส.ส.ก็ตรวจสอบนโยบาย ตรวจสอบการกระทำ ตรวจสอบงบประมาณที่รัฐบาลเสนอมา นี่คือการดูแลควบคุม”
“ดังนั้นพวก ส.ส.คือใคร พวก ส.ส.ก็คือคนที่ต้องพูด ทำไมเราถึงรู้สึกว่าพวก ส.ส.พูดมาก ก็อำนาจของเขาอยู่ที่การพูด เพราะ Parliament มันมีความหมายว่า ที่ที่ประชาชนเลือกตัวแทนมาให้พูดกับรัฐบาล ว่าประชาชนน้ำท่วมอยู่นะ ถนนขาด ยาไม่พอ ให้มาพูดกับรัฐบาล ฉะนั้น ส.ส. จึงพูดๆๆๆ รัฐบาลประชาธิปไตยต้องฟัง ส.ส.พูด เพราะเขามีอำนาจในการพูด และอำนาจอีกอันหนึ่งของเขาคือการยกมือโหวตรับไม่รับ”
@ จากตัวแทนประชาชน สู่วาทกรรมทำลายนักการเมือง ยุบพรรคการเมือง @
“มาตรา 9 ยังระบุอีกว่า ส.ส.มีอำนาจประชุมการถอดถอนกรรมการราษฎร กรรมการราษฎรในรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งก็คือฝ่ายบริหาร อำนาจอยู่ที่สภาสูงสุดเลย สภาล้มฝ่ายบริหารได้ ฝ่ายบริหารล้มสภาไม่ได้ เห็นไหมเขาสร้างพลังอำนาจเพราะว่าสภามาจากประชาชน ประโยคตรงนี้สั้นๆ มีความหมายมาก นอกจากนี้ยังให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรถอดถอนพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ พนักงานรัฐก็คือข้าราชการทั้งหมด ทั้งศาล กองทัพ ใครก็ตามที่รับเงินเดือนจากรัฐ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเปลี่ยนคำว่า ข้าราชการ ให้กลายเป็น พนักงานรัฐ เพราะคณะราษฎรมองว่า นี่ไม่ใช่ข้าของราชการแล้ว แต่เป็นการเปลี่ยนระบอบทางการเมืองแล้ว จึงเป็นพนักงานรัฐ”
ธำรงศักดิ์สรุปว่า ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีทัศนคติเกี่ยวกับ ส.ส. เสียใหม่ ไม่ปล่อยให้วาทกรรมนักการเมืองเลวครอบงำความคิดจนไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา
“วาทกรรมนี้ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 2490 เมื่อทำลายระบบทางการเมืองของสภา ทำลายระบบการเมืองของคณะราษฎร เพราะประชาธิปไตยของคณะราษฎรตั้งแต่เริ่มต้น เขาสร้างผลิตภัณฑ์ของนักการเมืองที่มาจากต่างจังหวัด แล้วก็มีชื่อเสียง ไม่ว่าเตียง ศิริขันธ์ เข้ามาเป็น ส.ส.อายุ 29 ปีเอง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จากอุบลราชธานี เป็นนายอำเภออยู่ดีๆ ลาออกลงสนามการเมืองครั้งแรกและได้เป็น ส.ส.ของอุบล ทองอินทร์ตอนนั้น 26 ปี มันหมายความว่าการปฏิวัติ 2475 ทำให้คนหนุ่มสาว generation ใหม่เห็นการสร้างชาติผ่านสภาผู้แทนราษฎร และระบบสภาผู้แทนราษฎรเป็นบทบาทกู้ชาติ รักษาชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าคุณไม่ได้ ส.ส.พวกนี้ คุณไม่ได้ขบวนการเสรีไทย พวกนี้คือหน่วยที่ไปสร้างกองกำลังเพื่อรบกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เราถูกทำให้ลืมไปหมด”
“เขาสร้างภาวะวาทกรรมว่านักการเมืองดีแต่โม้ แต่พอคุณสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย 14 ตุลาฯ 16 คุณได้รัฐธรรมนูญปี 17 แค่รัฐบาลที่อยู่สั้นๆ พรรคกิจสังคมที่มีรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช คุณยังสร้างความฮือฮาในการเปลี่ยนแปลงประเทศ งบประมาณว่าด้วยการพัฒนาชนบทมากมาย ซึ่งทหารไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าทำอย่างไรที่จะทำให้โรงเรียนมันดี มันเจริญ แค่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์อยู่ปีเดียว มหัศจรรย์ของประเทศเลย หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งมามีรัฐธรรมนูญมาเรื่อยๆ หลังรัฐธรรมนูญ 2540 คุณจึงได้รัฐบาลที่ทำความฝันให้กับประชาชนได้ว่า เป็นโรคอะไรมารักษาได้หมด คุณเห็นไหม นักการเมืองไม่ใช่แค่ขี้โม้ในแบบอดีต เพราะเมื่อเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เขาสามารถเอานโยบายของพรรคการเมืองมาเป็นนโยบายของรับบาลได้ แล้วเขาทำได้จริง”
“นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมพรรคการเมืองไทยจึงถูกยุบพรรคอยู่เรื่อย ตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน มี 376 พรรคที่ถูกยุบไปแล้ว คำถามคือตามทฤษฎีรัฐศาสตร์อธิบายด้วยว่า พรรคการเมืองเข้มแข็ง ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ถ้าคุณต้องการให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งคุณต้องไม่ยุบพรรคการเมือง”
@ เยาวชนไม่ใช่พวกหัวรุนแรง radical @
“จะเรียกเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า radical กลุ่มหัวรุนแรงต้องการล้มล้างการปกครองได้ไหม ผมว่าไม่ได้หรอก เพราะว่าเขายอมติดคุกนะ แสดงว่าเขาไม่ได้มุ่งล้มล้างคุณ เขายอมรับอำนาจคุณด้วยซ้ำไป เขาถึงยอมติดคุกกัน ถ้า radical ต้องไปดูพม่าที่ประชาชนตอนนี้จับปืนยิงกับทหารพม่าทั้งประเทศ ประชาชนถึงจุด radical แล้ว คนพวกนี้เพียงแค่ต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง”
“ภาษาอังกฤษ ปฏิรูปมันคือ reformation ปฏิวัติมันถึงเป็น revolution เขาพูดถึง reformation ทั้งนั้นเลย เพราะปฏิวัติมันคือเปลี่ยนพลิกฝ่ามือเลย เพราะฉะนั้น กระบวนการนี้คือกระบวนการปรับสมดุลในสัมพันธภาพระหว่างสถาบันทางการเมือง ในทางรัฐศาสตร์เราจะต้องเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข หรือทนทุกข์ทรมาน ประชาชนก็จะเป็นพลังกดดันให้รัฐยอมรับว่าประชาชนต้องการอะไรมันเป็นการปรับสมดุลตลอดเวลา”